"โซ คอพโลวิตซ์" เต่ามาราธอน สร้างตำนานพิชิตใจกองเชียร์


 


ในสภาพสังขารที่ยังต้องใช้ไม้เท้าช่วยพยุงกายเดินของ "โซ คอพโลวิตซ์" ชาวนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา วัย 55 ปี คงไม่มีทางที่จะคว้าแชมป์วิ่งมาราธอนรายการใดมาครอบครองได้ แต่คำปรามาสสบประมาทต่างๆ ก็ไม่สามารถทำลายความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะเข้าร่วมการแข่งขันวิ่งมาราธอนรายการใดๆ ของโซลงได้ แม้เธอจะได้รับสมญานามว่าเป็น "นักวิ่งมาราธอนที่เชื่องช้าที่สุด" ก็ตาม

เพราะการวิ่งมาราธอนได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของพลังชีวิตที่จะเสริมสร้างกำลังใจให้แก่เธอในการต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บที่รบกวนเธอมานานได้ต่อไป

แม้โซจะเริ่มต้นในเส้นทางสายมาราธอนช้าเกินไป โดยเริ่มหันมาเอาดีทางด้านนี้เมื่ออายุ 40 ปี หรือ 15 ปีให้หลังจากที่โซรับทราบคำวินิจฉัยของแพทย์ว่าร่างกายของเธออ่อนแอมาก ทำให้เคลื่อนไหวช้า จนกระทั่งโซเป็นโรคเส้นเลือดตีบ ทำให้เธอเชื่อว่าจะต้องตายด้วยโรคที่รักษาไม่หายขาดนี้แน่นอน


นับแต่นั้น โซเลือกที่จะดำเนินชีวิตอย่างระมัดระวัง เพื่อให้ร่างกายเข้มแข็ง ไม่เครียด และไม่ออกกำลังกายใดๆ ทั้งสิ้น วันเวลาผ่านไป จนกระทั่งวันหนึ่ง วิตามินซีที่โซรับประทานเข้าไป เกิดออกฤทธิ์ผิดสำแดง จนเกือบคร่าชีวิตเธอ แต่โชคดีที่แพทย์ช่วยไว้ทัน

จากประสบการณ์เฉียดตายครั้งนั้น ดลใจให้โซคิดจะเอาดีในการวิ่งมาราธอน แม้ว่าทุกคนจะคิดว่าเธอบ้าไปแล้วก็ตาม!!

โซเริ่มฝึกวิ่งมาราธอน โดยหาชุดที่เหมาะสม แน่นอนที่ขาดไม่ได้ก็คือ ไม้เท้าค้ำยันคู่ชีพ

แต่ความเป็นจริงย่อมแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากภาพที่วาดไว้ ก้าวแรกของการออกสตาร์ตเป็นก้าวที่ดีที่สุดของโซ ก่อนที่เธอจะสะดุดล้มลง

หากหลังจากการเข้าร่วมอยู่ในสโมสรอะคิลิส แทร็ก คลับ ซึ่งเป็นกลุ่มนักกีฬาคนพิการ ในเดือนมกราคมปี 2531 ทำให้โซได้รับทั้งกำลังใจจากเพื่อนๆ ผู้มีประสบการณ์ทุพพลภาพ ได้เรียนรู้เทคนิคต่างๆ ในการวิ่ง ตลอดจนการเล่นพินบอล เข้าคอร์สเต้นรำ ทำให้เธอได้ปรับปรุงการเคลื่อนไหวของร่างกายให้สอดประสานกันได้ดียิ่งขึ้น

เช้าหนึ่งในเดือนกุมภาพันธ์ ที่เซ็นทรัล ปาร์ก โซเริ่มฝึกซ้อมวิ่งมาราธอนระยะทาง 5 กิโลเมตร เดือนพฤศจิกายน โซพร้อมกับการวิ่งมาราธอนครั้งใหญ่ ซึ่งเธอเริ่มต้นตั้งแต่หกโมงเช้า ซึ่งเช้ากว่าคนอื่นๆ

ไม่กี่ชั่วโมงจากที่โซนำอยู่ คนแล้วคนเล่าได้วิ่งผ่านเธอไป ทิ้งเธอและกลุ่มเพื่อนที่มีชะตากรรมคล้ายคลึงกันอยู่เบื้องหลัง กระทั่งฟ้ามืด คนอื่นๆ หายไปหมดแล้ว โซถึงเข้าเส้นชัย ณ เซ็นทรัล ปาร์ก ใช้เวลาทั้งสิ้น 19 ชั่วโมง 57 นาที ขณะที่ผู้ชนะได้วิ่งเข้าเส้นชัยไปก่อนหน้าเธอแล้วเมื่อกว่า 17 ชั่วโมงก่อน

ไม่มีเหรียญรางวัล หรือดอกไม้ เป็นรางวัลปลอบใจโซ มีเพียงความมืดและความว่างเปล่าเท่านั้นที่หลงเหลืออยู่...

ผลการแข่งขันครั้งนั้นไม่ได้ทำให้โซย่อท้อ เธอยังคงลงแข่งขันในปีต่อไป และปีถัดๆไป กระทั่งปัจจุบันนี้ โซผ่านสนามวิ่งมาราธอนมาแล้วทั้งสิ้น 17 รายการ เป็นการแข่งขันในบ้านเกิดของเธอที่นิวยอร์ก 15 รายการ ในบอสตัน 1 รายการ และในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษอีก 1 รายการ ซึ่งแต่ละรายการโซทำเวลาไว้ไม่ต่ำกว่า 19 ชั่วโมง

แต่การแข่งขัน ณ วันนี้ ต่างไปจากวันก่อนๆ เพราะมีเสียงเชียร์และสายตาของผู้ชมทุกคู่คอยเป็นกำลังใจให้โซอยู่ตลอดทางสู่เส้นชัย

กำลังใจเหล่านี้เองคือ รางวัลแห่งการแข่งขันที่โซพิชิตมาได้ แม้ไม่ได้เป็นรางวัลแห่งชัยชนะ แต่เป็นรางวัลแห่งชีวิตที่โซพิชิตหัวใจผู้ชมมาได้และยังเป็นชนะตนเองในการเข้าสู่เส้นชัยเป็นผลสำเร็จด้วย...

 

จากนสพ.มติชนรายวัน วันที่ 8 พย. 46

คอลัมน์ มอง(มุม)ผู้หญิง