รองเท้ากีฬา ความเหมือนที่แตกต่าง

              

คนเราใช้ “เท้า” ทุกวันในการนั่ง เดิน ยืน วิ่ง กระโดด หากดูจากลักษณะภายนอกอาจเห็นว่าเท้าเป็นเพียงอวัยวะเล็ก ๆ แต่ที่จริงแล้วเท้าประกอบด้วยกระดูกข้างละ 26 ชิ้น กล้ามเนื้อและเอ็นอีก 32 มัด   เมื่อนับรวมจำนวนกระดูกเท้าทั้งสองข้างจะพบว่ามีจำนวนถึง 1 ใน 4 ของจำนวนกระดูกทั่วร่างกาย กระดูกเล็ก ๆ เหล่านี้ทำงานประสานกันอย่างน่าทึ่งในแต่ละก้าวเดิน จากการวิเคราะห์วงจรการเดินและการวิ่งพบว่าจังหวะและการรับน้ำหนักของเท้านั้นแตกต่างกัน
       

       ดังนั้นการเลือกรองเท้ากีฬาให้เหมาะสมกับชนิดกีฬาจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม
       ชนิดของรองเท้ากีฬา แบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ๆ คือ
       
       
1. รองเท้าวิ่ง (Running Shoes)  มีการศึกษาพบว่าร้อยละ 50 - 70 ของนักวิ่งได้รับบาดเจ็บจากการวิ่ง เพราะในขณะวิ่ง จะมีน้ำหนัก 2 – 3 เท่าของน้ำหนักตัวกดลงบริเวณส้นเท้า (หรือปลายเท้าในนักวิ่งเร็วระยะสั้น) ดังนั้นรองเท้าวิ่งจึงควรมีลักษณะดังนี้
       
       * ช่วยรับและกระจายน้ำหนัก วัสดุที่ใช้โดยเฉพาะบริเวณส้นเท้าจะมีคุณสมบัติพิเศษใน การกระจายแรงกระแทกไปสู่ส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย รวมทั้งช่วยถ่ายเทน้ำหนักลงสู่พื้น
 

       * ส่วนพื้นรองเท้าชั้นนอกจะมีลักษณะบานกว้างออก เพื่อเพิ่มความมั่งคงในการก้าววิ่ง
       
       * ช่วยเพิ่มสมรรถนะในการวิ่ง ลดปริมาณการใช้งานของกล้ามเนื้อน่องและขา

              2. รองเท้ากีฬาประเภทคอร์ท (Court Shoes) กีฬาประเภทคอร์ท เช่น แบดมินตัน เทนนิส สควอช จะมีลักษณะการเคลื่อนไหวเฉพาะตัวที่แตกต่างจากกีฬาประเภทอื่น ได้แก่ ลักษณะการยืนในท่าเตรียมพร้อมโดยน้ำหนักกดลงบริเวณปลายเท้า มีการเคลื่อนไหวทั้งในแนวหน้าหลังและด้านข้าง เป็นไปอย่างรวดเร็วและหยุดกะทันหัน และนอกจากการเคลื่อนไหวในแนวระนาบแล้วยังมีการกระโดดอีกด้วย ดังนั้นรองเท้าที่ใช้จึงต้องมีลักษณะและบทบาทเฉพาะตัว คือ
       
       * ช่วยรับและกระจายน้ำหนัก วัสดุที่ใช้โดยเฉพาะบริเวณฝ่าเท้าส่วนหน้าและส้นเท้าจะมีคุณสมบัติในการรับและถ่ายเทแรงที่มาจากทิศทางต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี และช่วยลดปริมาณการใช้งานของกล้ามเนื้อ
       
       * ป้องกันการเกิดการบาดเจ็บ เพราะวัสดุที่ใช้มีความแข็งแรงทนทาน กระชับบริเวณฝ่าเท้าและส้นเท้าเพื่อรองรับการเคลื่อนไหวในทิศทางต่างๆ และช่วยประคองข้อเท้าสำหรับรองเท้าชนิดหุ้มข้อ
       
       * ลวดลายรูปแบบของพื้นด้านนอก จะมีลักษณะพิเศษซึ่งจะมีผลต่อความยืดหยุ่น ความลื่น และเป็นจุดหมุนของรองเท้า ส่วนขอบพื้นรองเท้าชั้นนอกจะหนา เพื่อป้องกันการสึกของขอบพื้นรองเท้าจากการเคลื่อนไหวและการลากเท้าในทิศทางต่าง ๆ
       
       
3. รองเท้ากีฬาประเภทสนาม (Field Shoes) ต้องรองรับการเคลื่อนไหวในทุกทิศทางอย่างรวดเร็วและหยุดกะทันหัน รวมทั้งมีการกระโดด

และอาจมีการใช้เท้าเตะบอล ดังนั้นบทบาทสำคัญของรองเท้าประเภทนี้ คือ
       
       * กระชับกับรูปเท้าและยืดหยุ่นดี เพื่อให้ผู้เล่นสามารถรู้สึกถึงสัมผัสในขณะสัมผัสลูกบอล ในขณะเดียวกันวัสดุที่ใช้ต้องสามารถป้องกันการเกิดอาการเท้าบาดเจ็บได้ด้วย
       
       * บริเวณพื้นรองเท้าจะมีปุ่มเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการยึดเกาะกับพื้นสนาม และป้องกันการลื่นล้ม (สำหรับรองเท้ากอล์ฟที่มีคุณภาพดี จะช่วยในการถ่ายน้ำหนักซ้ายขวา ตามวงสวิงของผู้เล่นด้วย)
       
       เห็นมั้ยคะ รองเท้ากีฬาทั้ง 3 ประเภท ต่างมีจุดเด่นแตกต่างกันไป แต่ไม่ว่ารองเท้าจะดีแค่ไหน ก็ไม่ควรลืมสวมถุงเท้า เพราะนอกจากจะช่วยลดการเสียดสีแล้ว ยังช่วยดูดซับและระบายความชื้น แถมช่วยในการรับและส่งผ่านแรงกระแทก ที่สำคัญ ยังช่วยควบคุมอาการบวมที่อาจเกิดขึ้นจากการเล่นกีฬาด้วย
       
       เอาล่ะค่ะ คุณได้รู้ถึงรองเท้าที่เหมาะสมสำหรับการออกกำลังกายแต่ละประเภทแล้ว เรื่องต่อไปที่คุณต้องระมัดระวังเป็นพิเศษคือ ไม่ควรหักโหม ออกกำลังกายมากในครั้งแรกๆ แต่ควรทำอย่างต่อเนื่องอย่างน้อยวันละ 20 -30 นาที สัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง เท่านี้ก็เพียงพอที่จะเสริมสร้างให้มีสุขภาพดีทั้งร่างกายและจิตใจแล้วค่ะ

 

หมายเหตุ

คลิกที่นี่ http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9490000055561

โดย ผู้จัดการออนไลน์27 เมษายน 2549 09:44 น.
สายตรงสุขภาพกับรพ
.ศิริราช   อ.พญ.กุลภา ศรีสวัสดิ์                                                                                                                                                                 
รองเท้ากีฬา ความเหมือนที่แตกต่าง/อ.พญ. กุลภา ศรีสวัสดิ์