การบริจาคโลหิตในนักวิ่ง
โดย กฤตย์ ทองคง
การบริจาคโลหิต เป็นสิ่งที่ดีอย่างไม่ต้องสงสัย ยิ่งกับนักวิ่งที่เป็นกลุ่มผู้นิยมดูแลสุขภาพ ยิ่งเป็นความน่าชื่นชมที่เอาความสมบูรณ์ของสุขภาพตัวเองไปเผื่อแผ่ผู้ที่ด้อยสุขภาพกว่า
แต่มีอะไรอยู่นิดหนึ่ง ที่ทำให้นักวิ่งคลางแคลงใจ ก็คือ การสูญเสียเลือดไปจากภาวะปกติจำนวนหนึ่ง จะมีผลอย่างไรหรือไม่ต่อการฝึกซ้อมและแข่งขัน ซึ่งพวกเราอาจจะอยากทราบต่อไปก็คือ ถ้ามีผลเช่นนั้น การฝึกและการแข่งขันหลังจากบริจาคโลหิต ควรมีข้อพึงปฏิบัติอย่างไรบ้าง
ข้อนี้ตอบด้วยสามัญสำนึกได้ไม่ยากว่า มีผลแน่นอนครับ เลือดจำนวนนั้นต้องอาศัยระยะเวลาฟื้นตัวในสภาวะปกติ ร่างกายจะสร้างเม็ดเลือดขึ้นมาทดแทนจนมีระดับเท่าเทียมของเดิมราว 2-3 เดือนทีเดียว
การสูญเสียเลือดไป ย่อมจะมีผลต่อประสิทธิภาพกระบวนการนำออกซิเจนไปใช้ขณะออกแรง หรือ ที่เรารู้จักกันในนาม Max Vo2 ที่ย่อมต้องลดระดับลงบ้าง นั่นคือจะมีผลต่อการซ้อมหรือแข่งที่จะเหนื่อยเท่าเดิม แต่จะได้ความเร็วหรือระยะทางที่น้อยลง
จากการศึกษาอย่างจริงจังกับ Subjects ที่เป็นนักจักรยานและนักวิ่งในภาวะที่สูญเสียเลือดไปนี้ พบว่า ประสิทธิภาพดังกล่าวจะลดลงถึง 5%-10% ทีเดียว อย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 1 สัปดาห์
เริ่มตั้งแต่บริจาคโลหิตไป ร่างกายก็จะเริ่มกระบวนการสร้างเม็ดโลหิตแดงอย่างเข้มแข็ง และหนทางที่เราจะทราบว่า กระบวนการสร้างเม็ดโลหิตไปถึงไหนแล้ว ก็ด้วยการทดสอบตรวจหาระดับสาร Hematocrit และ Hemoglobin ซึ่งโดยปกติ หน่วยงานที่ดูดเลือดคุณไปย่อมจะเช็คหาระดับสารสองตัวนี้ก่อนที่คุณจะบริจาคอีกครั้งอยู่แล้ว ซึ่งดัชนีที่เป็นคุณต่อร่างกายนักวิ่งก็คือ ระดับของสาร Hematocrit และ Hemoglobin ที่สูง ก็จะเท่ากับเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการนำออกซิเจนของร่างกาย และ จะไปมีผลต่อการซ้อมและแข่งขันอีกที
ถ้าคุณเป็นนักวิ่งที่ไม่ได้เป็นระดับแข่งขันก็ไม่เป็นไร ให้กินอยู่ไปตามปกติ เดี๋ยวร่างกายก็กลับมาดีเอง แต่สำหรับในรายนักวิ่งที่บริจาคบ่อย หรือเป็นนักวิ่งแข่ง มีข้อแนะนำที่ช่วยให้คุณไม่ต้องเจอแรงเสียดทานมากนักด้วยการ ดื่มน้ำมากๆ ตามคำแนะนำสุขบัญญัติ 10 ประการ ที่ได้ยินมาสมัยเด็กๆ คือ วันละ 8 แก้ว แล้วถ้าจะให้ดีขึ้นก็ให้รับวิตามินรวมเสริม โดยเน้นที่ธาตุเหล็ก และ กินผักเขียวมากๆ รวมไปทั้ง ถั่ว และผลไม้ทั้งสดและแห้งอย่างขาดไม่ได้ และแม้คุณจะใจบุญรักที่จะบริจาคโลหิตมากขนาดไหนก็ไม่ควรบริจาคมากกว่าปีละ 4 ครั้ง และ แต่ละครั้งที่บริจาค ควรจะเป็นช่วงระยะเวลานอกฤดูกาลแข่งขัน ไม่ใช่ไปบริจาคต้นเดือนมกราคม ก่อนไปจอมบึง อย่างนี้ร่วงไม่รู้ด้วยนะ.
22:40 น.
16 มีนาคม 2548
ข้อมูลจาก Warren Scott M.D.
Director of Sports medicine at Kaiser
Permanente in Santa Clara , Calif.
Competitive runner since 1969
and member of R.W.’s Science Advisory Board.
คลิก
การเตรียมตัวก่อน-หลังบริจาคโลหิต
ผู้เยี่ยมชมตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค.50