บาดเจ็บที่เอ็น

 

 

                   การบาดเจ็บที่เอ็นเกิดขึ้นได้ง่ายกว่ากล้ามเนื้อ เพราะขนาดเล็กกว่า  เมื่อมีแรงดึงรั้งยืดหด  จึงต้องรับแรงมากกว่า  เมื่อเปรียบเทียบขนาดของหน้าตัด   และตำแหน่งที่อยู่ ก็มักจะเสียดสีกับกระดูกและเส้นเอ็นด้วยกัน

                   เอ็นเป็นตัวเชื่อมระหว่างกล้ามเนื้อและกระดูก  มีหน้าที่ยืดหดตัว  ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวได้  ประกอบด้วย  เอ็นและเยื่อหุ้มเอ็น  การบาดเจ็บที่เอ็นแบ่งได้ดังนี้

 

1.เยื่อหุ้มเอ็นอักเสบ

                     ที่พบได้บ่อย ๆ จากการวิ่ง  คือ  เยื่อหุ้มเอ็นร้อยหวาย  ใต้ตาตุ่มด้านนอก  เกิดจากการใช้งานมากเกินไป  เช่นวิ่งมากเกินไป  ทำให้มีอาการปวดรอบ ๆ เอ็น  อาจเป็นแบบเฉียบพลันหรือแบบเรื้อรัง

การปฐมพยาบาลและการรักษา

                     ในรายเฉียบพลันให้การปฐมพยาบาลทั่วๆ ไป คือ  น้ำเย็นประคบและให้ยาต้านอักเสบนาน 3 สัปดาห์พร้อมๆ กับการรักษาทางกายภาพบำบัด  เช่น  ประคบน้ำร้อน หรือคลื่นเหนือเสียง  ( อุลตราซาวส์ ) ไม่ควรฉีดยาต้านอักเสบ  สเตียรอยด์ เฉพาะที่  เพราะอาจทำให้เอ็นขาดได้ถ้าไปวิ่งหนัก ๆ  ในรายที่เป็นเรื้อรัง อาจต้องผ่าตัดเอาเยื่อหุ้มเอ็นออกถ้ารักษา  โดยวิธีดังกล่าวแล้วไม่หาย

การป้องกัน

                    1. หลีกเลี่ยงการวิ่งมากเกินไปทันที   ค่อย ๆ เพิ่มการฝึกทีละน้อย

                    2.  บริหารกล้ามเนื้อให้แข็งแรงอยู่เสมอ  ( เอ็นที่อยู่ต่อกับกล้ามเนื้อ จะแข็งแรงตามไปด้วย )

2.เอ็นอักเสบ

                     เป็นการอักเสบของตัวเอ็นเอง  มักพบภายในส่วนกลางที่มีเลือดมาเลี้ยงน้อย  เกิดจากการวิ่งหรือซ้อมหนักมากเกินไป  หรืออุปกรณ์ไม่ถูกต้อง  เช่น  รองเท้าแข็งและส้นเตี้ยเกินไป พื้นวิ่งแข็งมากหรือมีการวิ่งเพิ่มสปีด อย่างกะทันหัน ที่พบได้บ่อย ๆ คือ  เอ็นร้อยหวายอักเสบ  จะมีอาการเจ็บกดเจ็บมักมีอาการปวดในตอนเช้าวันรุ่งขึ้น  หลังจากวิ่งฝึกซ้อมหนักหรือวิ่งมากเกินไป  สาย ๆ อาการจะน้อยลงไป เมื่อเริ่มวิ่งจะมีอาการปวดอีก

การปฐมพยาบาลและการรักษา

                    เหมือน ๆ กับการปฐมพยาบาลปลอกเอ็น  มักไม่ค่อยใช้วิธีผ่าตัดรักษาการให้พักให้ยาต้านอักเสบ  เสริมส้นรองเท้าและทำกายภาพบำบัดทำให้อาการหายได้

การป้องกัน

                   1. ค่อย ๆ วิ่งเพิ่มการฝึกทีละน้อย  อย่าหักโหมหรือเพิ่มอัตราความเร็วกะทันหัน

                   2. บริหารกล้ามเนื้อให้แข็งแรงอยู่เสมอ

                   3.เสริมส้นรองเท้าให้สูงพอเหมาะและนิ่ม  เลี่ยงการวิ่งบนพื้นแข็ง

3.เอ็นฉีกขาด

                    มักพบในนักวิ่งสูงอายุ ( มากกว่า 40 ปี ) เนื่องจากการวิ่งที่ต้องเปลี่ยนทิศทาง และความเร็วทันทีทันใด  เช่นวิ่งหลบหลุ่มบ่อ  มีทั้งการฉีกขาดเป็นบางส่วน  และการฉีกขาดโดยสมบูรณ์  มักพบที่เอ็นร้อยหวายซึ่งเสื่อมจากการใช้งานมาก  หรือพวกที่เคยได้รับการฉีดยา ต้านการอักเสบ สเตียรอยด์ เข้าไปในเอ็น  เมื่อมีการฉีกขาดเกิดขึ้นขณะวิ่ง  จะเจ็บปวดทันที  บวม วิ่งต่อไปไม่ได้  ถ้าฉีกขาดมากถึงกับขาดโดยสมบูรณ์ จะไม่สามารถทำหน้าที่ได้เช่น  กระดูกข้อเท้าลงไม่ได้  เป็นต้น

การปฐมพยาบาลและการรักษา

                   ใช้การปฐมพยาบาลเบื้องต้นทั่วไป  จากนั้นควรให้แพทย์ รักษา ถ้าไม่สามารถหายไปได้เองใน 3 วัน  ถ้ามีการฉีกขาดเป็นบางส่วนต้องใช้เฝือก   ควรเป็นเฝือกอ่อน  ( การพันปลาสเตอร์ )  หรือเฝือกปูน  ถ้าฉีกขาดโดยสมบูรณ์ หรือเกือบสมบูรณ์ ( 50-100 % )  ต้องรักษาโดยการผ่าตัดต่อเอ็น  แล้วใส่เผือกไว้  3-6 สัปดาห์  จากนั้นบริหารก็จะกลับมาวิ่งได้ตามปกติ

การป้องกัน

                 1. หลีกเลี่ยง การวิ่งที่เปลี่ยนทิศทางและความเร็วทันที เช่น วิ่งหลบหลุมบ่อ ดังนั้นสนามพื้นที่วิ่งจึงความสำคัญมาก

                 2. บริหารกล้ามเนื้อให้แข็งแรงอยู่เสมอ

 

( หนังสือ บาดเจ็บจากการวิ่ง   โดย..รศ.นพ.ธีรวัฒน์  กุลทนันทน์  )