บาดเจ็บที่กระดูก

 

กระดูกนั้นเม้จะแข็งเพียงใดก็ร้าวหรือแตกหักได้ ถ้าเป็นการปักของกระดูกที่เกิดจากอุบัติเหตุโดยตรงก็ทราบได้โดยไม่ยาก เพราะบริเวณนั้นจะบวม มีรูปร่างคดงอหรือผิดรูปไปจากเดิม ถ้าลองขยับดูจะมีเสียงกรอบแกรบเหมือนกระดาษทรายถูกัน ( จากปลายกระดูกที่หักถูไถกัน ) แต่ถ้าเป็นกระดูกที่ร้าวหรือแตกจากแรงเครียดซึ่งมีแรงมากระแทกกระทั้นบ่อย ๆ นาน ๆ ในระยะแรก ๆ อาจวินิจฉัยโรคได้ยาก ดังนั้นจึงพึงระลึกอยู่เสมอว่า ตำแหน่งนี้ บริเวณนี้ ถ้ามีการบาดเจ็บเกิดขึ้นให้นึงถึงกระดูกร้าวหรือแตกไว้ด้วย นักวิ่งคนเก่งระยะกลางระดับชาติของเราก็พลาดโอกาสจากโรคนี้เช่นกัน

บาดเจ็บจากการวิ่งลักษณะนี้เกิดจากการร้าวของกระดูก เนื่องจากใช้งานมากเกินไป และมีการกระแทกกระทั้นซ้ำ ๆ ซาก ๆ จะพบในนักวิ่งที่เพิ่มระยะทางเร็วเกินไป หรือพวกที่วิ่งด้วยการเร่งความเร็วมากเกินไป และสิ่งที่ก่อให้เกิดกระดูกร้าวได้ง่ายคือ พื้นที่วิ่งที่แข็ง จะพบมากในพวกที่เริ่มวิ่ง หรือพวกนักวิ่งที่ต้องการชัยชนะ โดยการฝึกหนักมากเกินไป อาการที่พบจะมีความเจ็บปวดที่ตำแหน่งใดตำแหน่งเดียว โดยจะมีอาการเจ็บปวดอยู่ตลอดเวลา และถ้ายังไม่หยุดวิ่งก็จะเจ็บปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ จนทนแทบไม่ได้ ถ้าใช้นิ้วกดตรงตำแหน่งนั้นก็จะเจ็บ ซึ่งเราสามารถรู้ได้ว่าเป็นกระดูกเพราะมันจะแข็งและอยู่ที่ผิวนอก ที่พบได้บ่อย ๆ คือ ที่หลังเท้าด้านนอกเหนือตาตุ่มเล็กน้อย และส้นเท้าแข็งตอนบน นอกจากนี้อาจพบกระดูกร้าวจากการวิ่งที่บริเวณกระดูกสันหลัง เชิงกราน และหัวเหน่า โดยเฉพาะนักวิ่งที่อยู่ในวัยรุ่น

การปฐมพยาบาลและการรักษา

เมื่อมีการเจ็บปวดขณะวิ่งดังตำแหน่งต่าง ๆ ที่กล่าวแล้ว หรือวิ่งแล้วเจ็บปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ ที่จุดใดจุดหนึ่ง ให้หยุดวิ่งทันที พัก ประคบด้วยน้ำแข็ง 15 – 20 นาที ให้ยาแก้ปวด อาการจะดีขึ้นแต่จะไม่หายเจ็บปวดถึงแม้เวลาจะผ่านเลยไป 3 วัน หรือ 3 สัปดาห์แล้วก็ตาม ถ้าเราสามารถจับจุดที่กดเจ็บได้ว่าเป็นส่วนของกระดูก ให้พบแพทย์ทันที แพทย์จะเอ็กซเรย์ แต่จะพบว่าเอ็กซเรย์ปรกติในรายที่เป็นครั้งแรกจนถึง 3 – 6 สัปดาห์ แต่มีอาการเจ็บตรงกระดูกก็ต้องพักรักษาตัว ไม่วิ่งหรือเดินมากอย่างน้อย 6 สัปดาห์ ถึง 3 เดือน แล้วแต่ความรุนแรงของกระดูกที่ร้าว ให้ยาบำรุงกระดูกจำพวกแคลเซียมและวิตามินซีขนาดสูงร่วมด้วย พร้อม ๆ กับเอ็กซเรย์เป็นระยะ ๆ จะพบว่าหลังจาก 3 สัปดาห์เป็นต้นไป จะเห็นรอยร้าวของกระดูก และต่อมาเริ่มมีเนื้อกระดูกพอกพูนเพิ่มขึ้นจนรอยร้าวหายไป จึงหายและกลับไปวิ่งได้ การรักษาโรคกระดูกร้าวจากการวิ่งนี้ไม่จำเป็นต้องใส่เฝือก แต่ให้งดเว้นการลงน้ำหนักมากในระยะแรกอาจต้องใช้ไม้เท้าถือ เพื่อลดน้ำหนักขาข้างที่มีกระดูกร้าวช่วยในการเดินชั่วคราวในช่วง 3 สัปดาห์แรก เมื่อมาวิ่งใหม่ต้องวิ่งช้า ๆ บนพื้นที่นุ่ม เช่น พื้นหญ้า พื้นทราย และมีรองเท้าที่มีพื้นนิ่มลดแรงกระแทกด้วย จากน้อยจึงค่อย ๆ เพิ่มระยะทางจนกระทั่งวิ่งได้ตามปรกติ ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในช่วงนี้ประมาณ 3 ถึง 6 เดือน

ตำแหน่งกระดูกร้าวที่เกิดได้บ่อยจากการวิ่ง

1. บริเวณเท้า

มักเกิดที่กระดูกฝ่าเท้าอันที่ 2 , 3 และ 4 มักพบในนักวิ่งที่วิ่งบนพื้นแข็ง และการวิ่งขึ้นหรือลงจากที่สูง การเกิดจากการวิ่งที่ผิด เช่น ฝึกมากเกินไป วิ่งเร่งอัตราความเร็วมากเกินไปบนพื้นวิ่งที่แข็งหรือทางลาดขึ้นลง การรักษาในระยะแรกที่เกิดกระดูกร้าวไม่จำเป็นต้องใส่เฝือกดังกล่าวแล้ว แต่ถ้าจะวิ่งต่อไปทั้ง ๆ ที่เกิดกระดูกร้าวแล้ว จำเป็นต้องใส่เฝือกนาน 4 – 6 สัปดาห์ แต่บางตำแหน่งที่เอ็นกล้ามเนื้อยึดเกาะด้วย อาจจะต้องใส่เฝือกนานถึง 2 เดือน

2. บริเวณเหนือข้อเท้าด้านนอก

เกิดที่กระดูกอันเล็กเหนือตาตุ่มด้านนอก มักพบในนักวิ่งที่มีฝ่าเท้าแบบคว่ำปัดออกนอก นักวิ่งที่ฝึกหรือวิ่งมากเกินไป วิ่งบนพื้นที่แข็งซ้ำ ๆ ซาก ๆ จะเริ่มมีอาการเจ็บมากขึ้นทีละน้อยที่ด้านนอกของเท้าเหนือตาตุ่มประมาณ 5 ถึง 8 เซนติเมตร อาจจะมีบวมเล็กน้อย แต่ที่แน่ ๆ คือมีจุดกดเจ็บตรงตำแหน่งนี้ ถ้าอาการไม่มากหรือได้รับการรักษาในระยะแรก ไม่ต้องใส่เฝือก แต่ถ้าอาการมากเนื่องจากปวดแม้เวลาเดิน ต้องใส่เฝือกนาน 3 – 6 สัปดาห์ ที่ดีที่สุดคือ ใส่เฝือกพวกไฟเบอร์กลาสที่เปียกน้ำได้ เพื่อที่จะได้ออกกำลังวิ่งรอการหายแต่ต้องเป็นการวิ่งในน้ำ เมื่อหายจะสามารถวิ่งต่อไปตามปรกติเร็วขึ้น

3. บริเวณกระดูกหน้าแข้ง

เกิดที่กระดูกอันใหญ่ของขา ตำแหน่งด้านในตอนบนของขา ต่ำกว่าเข่าประมาณ 5 – 10 เซนติเมตร พบบ่อยในนักวิ่งที่มีขาโก่ง หรือนักวิ่งที่ฝึกมากเกินไป วิ่งบนพื้นแข็งซ้ำ ๆ ซาก ๆ จะมีอาการเจ็บมากขึ้นทีละน้อย ๆ และมีจุดกดเจ็บ กระดูกร้าวบริเวณนี้จะไม่เห็นในภาพเอ็กซเรย์ จนกระทั่งเวลาผ่านไป 1 – 6 เดือน นับตั้งแต่การเจ็บครั้งแรก จึงจะเห็นว่ามีกระดูกร้าว การรักษาก็คล้ายคลึงกับที่กระดูกเหนือตาตุ่มด้านนอกร้าว

เนื่องจากเป็นระยะเวลานานกว่าที่จะปรากฎภาพกระดูกร้าวในเอ็กซเรย์ หรือเห็นภาพในเอ็กซเรย์ตอนที่มีการเสริมสร้างกระดูกแล้ว ทำให้ลักษณะเอกซเรย์คล้าย ๆ กับภาพเอ็กซเรย์ของมะเร็งกระดูก ทำเอาตื่นตกใจไปตาม ๆ กันทั้งหมอและคนไข้ แต่ถ้าได้ทราบเรื่องหรือประวัติโดยละเอียด ก็จะรู้ว่าไม่ใช่เรื่องที่น่าตกใจจนเกินไป

การป้องกัน

1. หลีกเลี่ยงการวิ่งบนพื้นแข็งเป็นระยะเวลานาน ๆ หรือสม่ำเสมอ

        2. ไม่โหมฝึกวิ่งหนักจนเกินไป

3. ไม่ควรวิ่งสปีดความเร็วบ่อย ๆ ในการวิ่งระยะยาว

4. ไม่ควรวิ่งกระแทกกระทั้นบนพื้นที่วิ่งที่ขึ้นหรือลงจากที่สูง

5. ใส่รองเท้าพื้นนิ่มเพื่อลดและซึมซับแรงกระแทกที่เท้า

6. นักวิ่งหน้าใหม่ควรฝึกวิ่งช้า ๆ บนพื้นนิ่ม เช่น หญ้า หรือทราย และรู้จักประมาณตน ไม่วิ่งหักโหมจนเกินไป

7. ปรับโครงสร้างที่ผิดรูป เช่น เท้าคว่ำบิดออกนอกหรือขาโก่ง ด้วยรองเท้าที่เสริมเพื่อลดการเกิดกระดูกร้าวตามตำแหน่งที่ล่อแหลมดังกล่าวแล้ว