ผู้เยี่ยมชมตั้งแต่วันที่ 16 พ.ย.49 :

โอเว่อร์เทรน

 

โดย   กฤตย์  ทองคง

 

               จุดสูงสุดที่พอดีสำหรับการพัฒนาฝึกวิ่งก็คือ   ผู้วิ่งได้ความความล้าที่พอดี   ถ้าหนักมากก็โอเว่อร์เทรน   Overtrain  ก็คืออาการทางร่างกายที่ธรรมชาติเตือนนักวิ่งว่า   แผนฝึกที่กำลังทำอยู่หนักเกินความเป็นตัวของตัวเอง   ถ้าน้อยเกินไปก็อันเดอร์เทรน  (Undertrain)  หรืออ่อนซ้อม  ฝีเท้าไม่พัฒนา   เป้าประสงค์การฝึกถูกเลื่อนให้ช้าออกไป

                นี่ว่าโดยทฤษฎี   แต่ในทางปฏิบัติ   มันมักจะเว่อรหรือไม่ก็อ่อนดีกรีไป  ถ้าไม่ชำนาญ  จับความรู้สึกไม่เก่ง   ก็จะขาดๆเกินๆเสมอ

                สำหรับพวกเรานักวิ่ง  มีสองหนทางให้เลือกเป็นแนวทาง  คือให้เลือก  อันเดอร์เทรน   อ่อนซ้อมไว้จะดีกว่า   ถ้าจุดตรงที่สงสัยนั้นเราไม่แน่ใจว่าพอดีแล้วหรือยังนี้เป็นประการแรก   และให้พัฒนาความเก๋า   ช่างสังเกตจดจำ   ดูอาการตัวเองบ่อยๆ   ใส่ใจคำเตือนเพื่อนฝูง   และข้อควรระวังจากหนังสือ   นี่เป็นประการที่สอง

                อันที่จริงเราต้องใช้ประโยชน์จากทั้งสองประการเลยนะ   ไม่จำเป็นต้องเลือกข้อเดียวหรอก   ใช้ทั้งสองข้อร่วมกัน

                ที่กล่าวว่า  Undertrain  ดีกว่า  Overtrain  ก็เพราะ  “เจ็บแล้วยาว”   หมายความว่า  ถ้าบาดเจ็บแล้วล่ะก็เรื่องมันยาว   บางรายจัดการไม่ดี  ไปซ้ำทั้งๆที่ยังไม่หายก็เลยบานเบอะ   ต่อเนื่องเป็นเรื่องที่สอง   และเรื่องที่สองเป็นสิ่งนำเหตุให้เกิดเรื่องที่สาม    ทีนี้ก็ไปเรื่อยๆ  สี่ – ห้า  จนระเบิดระเบ้อเลิกวิ่งไปเลย

                ถ้าบาดเจ็บจากการวิ่งแล้วต้องทำให้สั้นด้วยการ     “ตัดขาเหนือเข่า”     ให้เลยแผลจนแน่ใจ

                เวลาแผลเน่า   หมอผ่าตัดเท้าหรือตัดขา   จะลงมีดใกล้ช่วงนั้นไม่ได้   เซลล์ที่ตายแล้วมันจะเน่าลุกลาม   เพราะตัดตื้นเกินไป

                ดังนั้น   ระยะที่ตัดต้องให้ห่างแผลพอควร   จนกระทั่งแน่ใจว่า  ตัดแล้ว – ไม่ตัดอีก   ตัดขาเหนือเข่า   จึงมีความหมายเช่นนี้เอง

                การหยุดพัก ต้องเชื่อฟังโค้ช   แม้หยุด 2 – 3  วันก็หายดีแล้ว   นั่นมันอาการ   แต่ความร้าวลึกมันยังอยู่   โค้ชมีความเก๋าพอมองร่างนักวิ่งทะลุปรุโปร่งมากกว่าตัวนักวิ่งเอง   จึงให้พักดับเบิ้ล  เผื่อเหนือเข่าสร้างความหงุดหงิดให้กับนักวิ่ง

 

“บอกว่าหายแล้วก็หายซิ

“ทำไมไม่ให้เราซ้อม   ทำอย่างนี้ได้อย่างไร”

ฯลฯ

 

จะยิ่งอันตรายนักหากไม่มีโค้ช   ใครเล่าจะเป็นผู้ทัดทานห้ามปราม   ถ้าตัวเองถูกเร่งเร้าจากความรู้สึกสด , กระหายวิ่ง  และเสพติดเอนโดฟินส์

 นี่คือเรื่องมันยาวอย่างนี้นี่เอง

                แต่พวกเราร้อยทั้งร้อยไม่มีโค้ช   เป็นอย่างนี้ในเบื้องต้น , เป็นอย่างนี้ในท่ามกลาง   และคงต้องเป็นอย่างนี้อีกในเบื้องปลาย   ดังนั้นตัวของเราต้องเร่งรัดพัฒนาฟอร์มเก๋าให้ได้   ต้องพึ่งตนเองให้ได้   เอาตัวรอดให้พ้นจากหลุมดำให้ได้   ดูแลตัวเองไม่ให้เจ็บเป็นอันขาด

                ขอย้อนกลับไปเรื่องตะกี้   นี่คือต้องพูดว่า   Undertrain  ดีกว่า  Overtrain  แน่  ที่ดีที่สุดคือการฝึกที่เข้มข้นปริ่มขอบพอดี   แต่ถ้าระหว่างสิ่งที่หนักหรือเบาเกินไปทั้งสองอย่าง   Under  ย่อมเป็นเรื่องที่หนักใจน้อยกว่า  Over  แน่นอน

                ถ้าซ้อมน้อยไป  ก็แค่เติมความเข้ม  เหมือนเหยาะน้ำปลาในอาหาร   ทีละนิดนะ   แม้ยังอ่อนก็เหยาะลงไปอีก   เหยาะ  2  ที  3  ที   บ่อยหน่อยแม้น่ารำคาญ   แต่เชื่อมั่นได้ว่าปลอดภัย   เค็มอร่อยพอดีเมื่อไรก็หยุดตรงนั้น    เคล็ดลับก็คือ  อย่าใส่น้ำปลาพรวดเดียว   มันเสี่ยงไป   ยิ่งบางราย  ชิมก็ไม่ชิม   ราดน้ำปลาเลย   เอาสูตรเขามาวิ่ง   ยังไม่ทันลองหยั่งดูเลย   อัดเข้าไปเยอะกว่าเขาอีก  อย่างนี้   “สมควรตาย”

                การฝึกเข้าไปวันแล้ววันเล่า   โดยปราศจากพักฟื้นที่พอเพียงจะส่งผลให้เกิดแรงเครียด (Tension)  ทั้งร่างกายและจิตใจ   ถ้าไม่รีบเบาแผนผ่อนเครื่อง   ถอนคันเร่ง   จะควงสว่าน  และหัวปักพื้น

                แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะระบุภาวะโอเว่อร์เทรนด้วยการให้ผู้เชี่ยวชาญดูในแผน   มองตารางวิ่งของคนใดคนหนึ่งในกระดาษ   แล้วกำหนดวันพักให้จนพอเพียงพอดี   โค้ชต้องดูตัวนักกีฬาเป็นรายๆไป   ในความหนักเท่าๆกัน   ปฏิกิริยาตอบสนองของนักวิ่งแต่ละคนแตกต่างกัน   แม้จะมีระดับความฟิตเท่าๆกันด้วยนะ

                คงจะเหมือนกับการที่แพทย์ต้องดูคนไข้เป็นรายๆไปว่าแพ้ยาอะไร   ด้วยการสังเกต   ไม่สามารถระบุได้จากตำรา   แล้วว่าไปตามนั้น

                อาการหนึ่งที่ใช่เลยก็คือ   พักสองวันก็แล้ว  พักสามวันก็แล้ว  ไม่พบว่าดีขึ้น   ตามธรรมชาติความล้าเป็นเรื่องธรรมดาจากการฝึก   แต่โดยทั่วๆไปเมื่อผู้วิ่งผ่านการพักสักวันสองวันก็จะหายดีหรือค่อยยังชั่ว   บ้างสลับด้วยวันเบา   รุ่งขึ้นก็พร้อมฝึกหนักได้อีกแล้ว   แต่ที่กล่าวนี้ก็ยังมีแง่มุมที่ยกเว้นอยู่อีก  เช่นกรณีพิเศษอย่างเพิ่งเสร็จมาราธอนมา   ซมไป  4 – 5  วัน   ล้าไปหมด   นั่นเป็นอีกเรื่อง   ที่ไม่ขอกล่าวในที่นี้

                แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม   การที่พักฟื้น  2 – 3  วัน  ถ้าไม่ดีขึ้นในสถานการณ์ซ้อมปกติถือว่า  ใช่แล้ว   สันนิษฐานว่าเป็นโอเว่อร์เทรนไว้ก่อน   มันเป็นสิ่งที่บ่งชี้ว่า   การปรับตัวให้เข้ากับการฝึกเข้มข้นปัจจุบันขณะนั้นล้มเหลว   ร่างกายประสบกับภาวะ  Catabolism  คือร่างกายทำลายเนื้อเยื่อเพื่อให้เกิดพลังงาน   มีบางอาการที่เกิดร่วมโอเว่อร์เทรนหรืออาจไม่เกิดก็ได้เช่น   ความสามารถในการซ้อมตก   บางคนก็หลับยาก   บางคนก็มีอารมณ์ผันผวน  และอัตราชีพจรเพิ่มมากขึ้น   ในกรณีที่ซ้อมตก  ต้องถือว่าเป็นโชคดี   เพราะมันก็แค่ทำไม่ได้เท่านั้น   บางรายโอเว่อร์เทรนแล้วไปกดหนักทับเพิ่มด้วยวิญญาณดิ้นรนต่อสู้จากผู้วิ่งด้วยความเข้าใจผิดจะทำให้เกิดผลร้ายภายหลัง  อันตรายมาก

 

               Overtrain  สามารถเรียกอีกอย่างได้ว่า  Overreaching  (เอื้อมไม่ถึง)  Overreach  ก็คล้ายๆกับ  Overtrain  ที่ผู้ฝึกเพิ่มโวลุ่มความเข้มเข้ามากเกินไปและพักไม่พอในคาบระยะเวลากระชั้น  แต่  Overreach  มันมีความหมายเพิ่มตรงที่   แม้บางครั้งผู้ฝึกสามารถไปถึงจุดปริ่มขอบพอดีของการฝึก   เร่งโวลุ่มได้ระดับพอดีกับตัวเอง   เรียกว่าพอดีเปี๊ยบเกินไป   ทีนี้ชีวิตเป็นของไม่แน่นอน  Just a little bit too something  โคจรเข้ามาอย่างไม่ได้ตั้งใจเลือก   บ่อยครั้งก็ไม่เกี่ยวกับเรื่องวิ่งเลย  เช่น  นอนน้อยไปนิด ,  เส้นตายที่เจ้านายขีดให้เพื่อส่งงาน ,  ต้องส่ง  Proposal  วิจัยให้ทันเดี๋ยวจะไม่ทันรับปริญญาปีนี้ ,  มีลูกยังเล็ก ต้องประคบประหงมป้อนน้ำป้อนนมโยเยเอาแต่ใจตัว  โน่นนิดนี่หน่อย   ร่างกายประท้วง  บอกอย่ากระนั้นเลย  เจ็บมันเสียเลยดีกว่า   ว่าแล้วก็  Injury  แปลกไหม? เป็นอย่างนี้ก็มี  คือมันพอดีเปี๊ยบเกินไปอย่างที่ว่า

 นี่คือเหตุผลที่ผู้เขียนแนะนำว่า  จงหลีกเลี่ยงเขียนแผนฝึก   อย่าเขียนให้พอดีนัก  จงเหลือ  Space  ว่างไว้ให้เราพอขยับหายใจได้บ้าง  นี่เป็นเคล็ดลับ   นี่เป็น  Undertrain  ดีกว่า  Overtrain     นี่ต้องใช้ฟอร์มเก๋า   หยั่งตัวตนให้ถึง

                อย่าไปเดินชมวิวที่ริมผาจัด  เดี๋ยวลมกระโชกจะหล่นลงไป   ห่างออกมาสักก้าวสองก้าว  เผื่อๆไว้ไง

               มีนักวิจัยศึกษาเรื่องภาวะโอเว่อร์เทรนอย่างจริงจังเพื่อดูว่าสิ่งใดจะเป็นสิ่งบอกเหตุก่อนเพื่อน   หรือเป็นสิ่งแม่นยำเหมือนกันทุกราย   เพื่อจะได้เอาผลการศึกษาไปใช้กับนักกีฬาต่างๆ   โดยใช้  Subjects  ผู้ผ่านการฝึกมาอย่างดี   เข้ามารับการทดลอง  โดยให้รับดีกรีความเข้มข้นเพิ่มขึ้น  15%  ในคาบระยะเวลา  2  สัปดาห์  แล้วผ่านการทดสอบดูปฏิกิริยาต่างๆหลายตัวทดสอบดังนี้

 

1.     Simple function tests

2.     Opposed to invasive biological tests

3.     The athletes’rate of perceived exertion  (RPE)

เราไม่ต้องไปเข้าใจมันก็ได้  ไอ้เทสท์ต่างๆนี้   เอาเป็นว่ามันคือดัชนีชี้ค่าทางวิชาการหลายด้านหลายมุม   เพื่อดูว่าปัจจัยใดบ้างที่โดดเด่นออกมาทันทีก่อนที่จะคืบคลานกลายมาเป็นโอเว่อร์เทรนภายหลัง 

               ผลวิจัยสรุปว่าอะไรทราบไหมครับ การเฝ้าสังเกตอาการตัวเองของนักวิ่งนั่นเอง    “Just listening yourself”  แม่นที่สุดก่อนที่สัญญาณต่างๆจะปรากฏและผ่านการแปลค่าออกมาให้นักวิจัยทราบ   ผู้ที่ทราบก่อนคือตัว  Subjects  “มันเริ่มล้าครับ”   คือคำที่เขากล่าวกับผู้ช่วยทีมวิจัย   เป็นดัชนีที่แม่นที่สุดในแบบทดสอบ

                เราชาวนักวิ่งจงตระหนักในผลวิจัยนี้ให้แจ่มแจ้งด้วยเถิด   แล้วเอาไปใช้อย่างไตร่ตรอง  จะเป็นคุณกับตัวเอง

 

 วิธีที่  1

               กำหนดไม้บรรทัดเพื่อแทนค่าของความหนักความพยายามแผนฝึกลงไปหนึ่งถึงสิบ   โดยให้หนึ่งเป็นตัวแทนความง่ายมาก  และสิบคือยากที่สุด  และ 5 คือกลางๆ   หลังจากฝึกแผนนั้นมากกว่า  10  วัน  ให้ระบุค่าลงไป  จดเทียบเคียงกับประสบการณ์ที่เคยมีมาแต่ก่อน

                เช่นแต่ก่อนขณะวอร์ม  เคยใช้ความพยายามแค่ระดับที่  2   แต่ตอนนี้ต้องใช้ระดับ  4 – 5  ในความเร็วเท่าเดิม   อย่างนี้แสดงอาการที่น่าเป็นห่วง

                หรือในการฝึก  Speed Works  แบบเดิมๆ  จ็อกก็เท่าเดิม  มาบัดนี้เริ่มเอาไม่อยู่  ไม่หายเหนื่อย  ต้องเพิ่มเวลาจ็อกเข้าไป  อย่างนี้ก็น่าจะใช่ด้วยเหมือนกัน

                ถ้าเป็นอย่างนี้ให้รับมือโดย  ลดฝึกลง  50%  ในทุกชนิดฝึก  และหรือเลื่อนแผนนั้นๆไปเป็นสัปดาห์หน้า   สัปดาห์นี้เป็นเบาทั้งสัปดาห์

 

 วิธีที่  2

               ให้ใช้   HRM.  หรือ  Heart rate monitor  เครื่องวัดชีพจรขณะฝึก   ที่เห็นมีพวกเราบางคนใช้อยู่  ถ้ามีก็ใช้  HRM.ได้เลยเพราะง่ายมาก

                เมื่อโอเว่อร์เทรน   ร่างกายจะเพิ่มอัตราการเต้นหัวใจ  8 – 10  ครั้งขึ้นไปต่อนาทีในเงื่อนไขการฝึกเดิมๆ  เช่นการวิ่ง  1,600 เมตรที่ความเร็ว  8  นาที  ได้อัตราหัวใจที่ประมาณ  130  ครั้งต่อนาที   มาคราวนี้กลายเป็น  140  อย่างนี้ก็ใช่แน่นอน   ปรับแผนเบาลงได้เลยครับ

                ตั้งแต่วิ่งมา   ผู้เขียนยังไม่เคยเห็นใครที่วิ่งฝ่าให้ทะลุโอเว่อร์เทรนได้สักรายเดียว   เห็นเป็นแค่สำนวนพูดๆกัน

                สิ่งสุดท้ายที่อยากจะฝากไว้ก็คือ   ถ้าเราเลือกที่จะมาวิ่ง   “สุขภาพต้องได้”   ใช่หรือไม่   อย่าให้เจ็บเป็นอันขาด   โอเว่อร์เทรนเกิดกันได้  แต่ให้รีบแก้ไข  ถ้ามาวิ่งแล้วเจ็บ  อยู่เฉยๆดีกว่าจริงไหม

 

12:21  น.

5  ตุลาคม  2549

 

  

On  the  blink.

How to draw the fine line between

hard workouts and overtraining.

By  Ed  Eyestone

www.runnersworld.com