<% Set FileObject = Server.CreateObject("Scripting.FileSystemObject") Dir = Request.ServerVariables("SCRIPT_NAME") Dir = StrReverse(Dir) Dir = Mid(Dir, InStr(1, Dir, "/")) Dir = StrReverse(Dir) HitsFile = Server.MapPath(Dir) & "\hitcounter\hits_one_more_one_good.txt" On Error Resume Next Set InStream= FileObject.OpenTextFile (HitsFile, 1, false ) OldHits = Trim(InStream.ReadLine) NewHits = OldHits + 1 Set OutStream= FileObject.CreateTextFile (HitsFile, True) OutStream.WriteLine(NewHits) %> ยิ่งมาก-ยิ่งดี_กฤตย์

ผู้เยี่ยมชมตั้งแต่วันที่  4 มิ.ย.49<% L=Len(NewHits) i = 1 For i = i to L num = Mid(NewHits,i,1) Display = Display & "" Next Response.Write Display %>

 

ยิ่งมาก-ยิ่งดี

 

 

โดย   กฤตย์   ทองคง

 

               มีพฤติกรรมวิ่งอยู่ชนิดหนึ่งที่ผู้เขียนอยากเอ่ยถึง ด้วยความเป็นห่วง ที่พวกเราบางคนมีบุคลิกวิ่งแบบ รักการกอบโกย , เอามากเข้าว่า และแม้เมื่อได้มากแล้ว ถ้ายังทำได้มากขึ้นไปอีกก็ยิ่งดี (More is better)  แรกๆผู้เขียนคิดว่าคงจะเป็นอาการในช่วงระยะเวลาหนึ่งที่เพิ่งวิ่งมาได้ไม่นาน , กำลังเห่อ ถ้าได้ปล่อยให้สะสมเหรียญไปพักนึงเดี๋ยวคงซาไปเอง  แต่บางรายกลับปรากฏว่าไม่ยอมเลิกบ้า เห็นได้จากพวกได้ถ้วย วิ่งติดอันดับได้ป้ายบ่อยๆ พวกนี้ขาเก่าก็เป็นกับเขาเช่นกัน  ออกล่ารางวัลเหมือนคนป่าล่าหัวมนุษย์ บ้าเลือด ยิ่งได้มากยิ่งกระหายเลือด ใครๆเห็นแค่เงา ก็เกรงขาม

 

               ที่ไม่ใช่พวกแนวหน้าก็มี  เป็นพวกแนวตะกละ  สนามที่มีของแจกเยอะ  ผู้จัดปรารถนาดีจะให้กินได้ทั่วถึงไม่มีอด  พี่แกเอาถุงมาใส่กลับบ้าน  งามหน้าซะไม่มี

 

               ผู้เขียนคิดดีแล้ว ก่อนที่จะจรดปากกาเขียนเรื่องนี้ว่า ในด้านหนึ่ง การสะสมเหรียญหรือสะสมถ้วย หรือการออกล่าอะไรก็ตามแต่ นับได้ว่าเป็นการสะสมความน่าภาคภูมิใจที่น่ายินดีมิใช่หรือ แม้กระทั่งเป็นสิทธิส่วนตัว  ตรงนี้ผู้เขียนไม่ขอโต้ประเด็น แต่ขอให้ผู้อ่านลองติดตามเรื่องไปจนจบ ผู้เขียนเชื่อว่า ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม เราอาจจะได้ประโยชน์จากมุมที่เคยมองไปจากเดิม และเป็นโอกาสให้เราประจักษ์ในตำแหน่งแหล่งที่ของตัวตนเราเองได้ชัดเจนในปริมณฑลวิ่ง

 

               ยิ่งมาก – ยิ่งดี  ไม่ใช่เป็นคติที่มีมาแต่เดิม  อยากให้พวกเรามองทั้งสองด้าน  ในด้านเรื่องวิ่ง  และด้านที่ไม่ใช่เรื่องวิ่ง  แต่เชื่อว่า  หากสืบเค้าลางถึงรากความคิดที่มา  เชื่อว่าน่าจะมาจากแหล่งเดียวกัน

 

               ทุกวันนี้ แนวคิด “ยิ่งมาก-ยิ่งดี” กำลังเริ่มล้าสมัยในศตวรรษใหม่ ไม่ว่ามันจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม ด้วยว่า “ความที่ได้มามาก” นั้น มิได้เหาะลอยมาจากอากาศธาตุเปล่าๆ หากแต่มาจากโอกาสที่ผู้อื่นได้มันน้อยลง ไม่ว่าประเด็นนั้นจะถูกกฎหมายหรือไม่ , ถูกศีลธรรมหรือไม่ , และใครจะพึงพอใจหรือไม่  แนวคิด “ยิ่งมาก-ยิ่งดี” เริ่มสถาปนาตั้งมั่นเกือบเต็มพื้นที่โลกนี้เท่าไร ก็เท่ากับมีผู้รับความรวดร้าวจากมันมากกว่าผู้รับความสำเร็จอย่างท่วมท้น เรื่องมันน่าเศร้าก็ตรงที่ บ่อยครั้งผู้พ่ายแพ้ก็ยินดีรับกฎกติกาที่เอื้อต่อคนจำนวนน้อยเท่านั้นอย่างหน้าชื่น  ธรรมชาติมนุษย์เราอ่อนแอเกินไปที่จะมองทะลุฝ่าฟันออกมาจากกับดักทางสปิริตนี้ ความต้องการเหนือกว่าผู้อื่นนี้มันรุกเร้ารุนแรงบีบคั้นมนุษย์อย่างหนัก บ่อยครั้ง ในเรื่องที่ไม่เป็นเรื่องก็ไปแส่หามันเข้ามาสุมหัวราวกับว่าชีวิตนี้มันสบายเกินไปแล้ว  เป้าหมายข้อเขียนความคิด “ยิ่งมาก-ยิ่งดี” นี้มิได้อยู่ที่มองความคิดนี้เชิงนิเสธทั้งหมด ผู้เขียนไม่ลืมว่า ตัวเองก็เติบโตมาในยุคปั่นป่วนนี้เหมือนกับพวกเราทุกคน จนกระทั่งเคยมอง “ยิ่งมาก-ยิ่งดี” ว่าเป็นสิ่งที่สมควรนิยมโดยอัตโนมัติ แต่การตระหนักรู้ (Awareness) ในความอ่อนแอของมนุษย์ก็ถูกพิจารณาว่า เป็นสิ่งที่เหมาะสมที่จะ “ชักชวนสะกิดกันดู” ยิ่งในท่ามกลาง บรรยากาศที่ “วิ่งกันตะพึดตะพือ” นี้ หาคนเขียน คนมองและเปิดประเด็นไม่ได้เอาเลย ก่อนที่จะเชื่อมโยงความคิด “ยิ่งมาก-ยิ่งดี” เข้ากับเรื่องวิ่งต่อไป ผู้เขียนขออนุญาตเท้าความถอยหลังไปสักเล็กน้อยถึงว่าคติเช่นนี้มันมาจากไหน  เท่าที่จะสืบมันไปได้

 

               จำเดิม แต่เราคบกับฝรั่งมาเมื่อร้อยกว่าปีก่อน สมัยพระพุทธเจ้าหลวงนี้เอง สมัยที่เราเริ่มปลาบปลื้มกับโมเดลความสำเร็จและความมหัศจรรย์ของเทคนิควิทยาอย่างใหม่จากตะวันตก  ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้ คนไทยเราไม่เคยมีวิธีคิด “ยิ่งมาก-ยิ่งดี” เยี่ยงนี้เป็นกระแสหลัก เห็นได้จาก ถ้าใครไปว่าจ้างให้แม่ค้าทำสินค้าอย่างหนึ่งอย่างใดเป็นจำนวนมาก ราคากลับจะแพงขึ้น หาใช่ถูกลงอย่างสมัยนี้ไม่ มันจะเป็นค่าเหนื่อย ,ค่าเมื่อย หรือค่าเพิ่มความเครียดอย่างใด แม่ค้าก็บอกไม่ถูก แต่ที่แน่ๆเธอไม่มีความสุขจากออร์เดอร์สินค้าจำนวนมากนั้นก็แล้วกัน ที่ต่อมาไม่นานเกินลืม  เรากลับนำตัวอย่างนี้มาอธิบายเป็นลักษณะนิสัยคนไทยที่ไม่พึงประสงค์ ว่า เราเป็นชาติที่ค้าขายไม่เก่ง ขณะเดียวกัน ก็เริ่มให้ความนิยมกับแนวคิด “ยิ่งมาก-ยิ่งดี” เพิ่มขึ้น

 

               และก็ไม่กี่ร้อยปีมานี้นี่เอง ที่เราไม่เคยยกย่องผู้มีความสามารถใดที่สูงเป็นพิเศษเหนือคนอื่นสุดๆว่าเป็นเรื่องที่ดี,เรื่องควรแต่อย่างใด  อย่างถ้าจะฝึกกันจนเก่งที่สุดในโลกในเรื่องหนึ่งเรื่องใด  แต่เพราะความที่ต้องเป็นเลิศนี้เองทำให้ต้องทุ่มเทฝึกฝนหนักมาก จนไปดึงเอาเวลาฝึกฝนเรื่องอื่นๆออกไป จนกลายเป็นคนอ่อนด้อยความสามารถเรื่องอื่นๆลง อันเป็นธรรมชาติ นี้  คนไทยเรามีคติว่าเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมแน่นอน  แต่สมัยนี้ เรากลับต้อนรับนักกีฬาเหรียญโอลิมปิคกันอย่างกับเทวดามาเกิด

 

               แน่ละ  นี่เป็นความคิดอย่างฝรั่ง ที่เราสมาทาน (แปลว่า เชื่อและนำมาปฏิบัติ)  มาแต่ไม่เกินร้อยกว่าปีมานี้เอง

               ด้านฝรั่งเองนี่ก็ไม่ใช่ความคิดเก่าของพวกเขาแต่อย่างใด  แนวคิด “ยิ่งมาก-ยิ่งดี” เพิ่งถือกำเนิดในสมัยที่มีการปฏิวัติอุตสาหกรรมและฟื้นฟูศิลปะวิทยาการที่อิงแอบกับธรรมจริยา  ที่ในสายตาสมัยนั้นถือว่า ทันสมัยเหลือเกิน และประเทศสหรัฐอเมริกาก็ก่อร่างสร้างประเทศมาจากอุดมการณ์เสรีภาพ และประชาธิปไตย จากธรรมจริยาของสกุลความเชื่อนี้ อย่างเต็มที่เต็มทาง ที่ถือว่า  ธรรมจริยานี้ จะช่วยปลดแอกจิตวิญญาณให้พ้นจากการพันธนาการของนักบวชและขุนนางที่ผูกขาดการเป็นผู้ดูแลจิตวิญญาณ ที่ปวงชนเคยต้องพึ่งพา  และกู้เกียรติยศศักดิ์ศรีกลับคืนให้ประชาชนที่จะเลือกหนทางเป็นผู้รอดพ้นจากวันพิพากษาด้วยตัวของเขาเอง

 

               ดังนั้น สังคมสมัยใหม่ ที่อิงแอบกับการผลิตคราวละมากๆ ย่อมต้องอาศัยแนวความคิดแบบ “ยิ่งมาก-ยิ่งดี” ซึ่งถ้าจะกล่าวอย่างให้ความเป็นธรรม ในสมัยนั้น ยังไม่มีใครที่เห็นประเด็นเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผิดบาปและไม่ถูกต้องนะครับ  ก็เพราะไม่ว่าจะหันไปทางไหนก็จะพบแต่แหล่งวัตถุดิบอย่างเหลือเฟือ , แหล่งพลังงานล้นเหลือ จนอาจกล่าวได้ว่า “ไม่มีวันหมด” โดยโยนปัญหานี้ไปไว้ในหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้าว่าเป็นสิ่งที่ถูกประทานมาให้ และเนื่องจากพระเจ้าเป็นพระผู้สร้าง มันจึงหมดไม่ได้ มันต้องไม่มีทางหมด และดังนั้นเอง แนวความคิด เร่งผลิต,เร่งกิน,เร่งใช้,เร่งโกย,เร่งขยะ,เร่งวิบัติ,เร่งป่วย,และเร่งตายก็เริ่มสถาปนาตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

 

               จำเนียรกาลผ่านพ้น ปัจจุบันอะไรเป็นอะไรก็เห็นๆกันอยู่ ฝ่ายชนชั้นปกครองบ้านเราที่สติปัญญาเท่ากับหางอึ่งก็รับหางกะทิฝรั่งมาพัฒนาเศรษฐกิจบ้านเมืองอีกทอดอย่างปราศจากความเป็นตัวของตัวเอง เพราะด้วยความที่คิดไม่เป็น อะไรๆมันก็หร่อยหรอลง,ความเจ็บไข้,ความยากจน,ความล้มละลาย,ความรู้สึกถูกแย่งชิง,ความเขียดแค้นและความตายกลับเป็นประเด็นที่จ่อเข้ามาใกล้คอหอยมนุษย์มากขึ้นทุกขณะ  แต่เราก็หลีกเลี่ยงมันด้วยการแก้ไขแบบตัดแปะ , ปะผุ ดังนั้นความอึดอัดคับแค้นที่มีอยู่อย่างไรก็ยังคงอยู่อย่างนั้น ตราบใดที่เรายังไม่กลับมาทำความเข้าใจให้แจ่มชัดกับความคิดต้นแบบที่ให้คุณค่ากับความ “ยิ่งมาก-ยิ่งดี” และประเมินมันเสียใหม่ ต่อสถานการณ์โลกยุคปัจจุบัน

 

               จะเห็นได้ว่า  แนวคิด “ยิ่งมาก-ยิ่งดี” ได้ลุกลามจากการครอบงำด้านเศรษฐกิจการเมืองเข้าสู่ กรอบความคิดด้านการศึกษา,การสาธารณสุข, เข้าไปในวัดวา ที่พระสงฆ์องคเจ้าจะคิดอ่านประการใดก็คล้ายกับฆราวาสเข้าไปทุกวัน แม้จนกีฬาวิ่งเพื่อสุขภาพก็ไม่พ้น อย่างที่ผู้เขียนคุยมาตั้งแต่ต้น  เพราะอยากสำเร็จมากใช่ไหมจึงต้องโหมซ้อมจนบาดเจ็บกันไปตามๆกัน  อาการหน้ามืดตามัวขนาดไหนก็สังเกตได้จากสนามที่ซองรางวัลที่หนาเป็นพิเศษเถอะครับ ที่แหล่งข่าวภายในแจ้งว่า ฉีดยาโดปกันทั้งนั้น (ขอโทษท่านที่เปล่าทำ) ก็มันจะเป็นไปได้อย่างไรที่แรกเข้ามาเป็นนักวิ่งก็เพื่อสุขภาพ    ต่อมาพอเก่งอยากชนะต้องฉีดยาสเตียรอยด์ นี่แสดงว่า ขาดการไตร่ตรอง ว่างๆเมื่อไรวอนคุณพวกนี้นั่งสงบสติใจเย็นๆ ใคร่ครวญให้ดีเถิด คิดตกเมื่อไรก็จะเป็นคุณกับตัวคุณเอง หากยังดันทุรังมันก็เป็นเรื่องของคุณเหมือนเดิมอีกนั่นแหละ แต่เพิ่มความน่าสมเพชเข้าไปอีก

 

               ที่ฝอยมายืดยาวนี้ เรากำลังอยู่ในประเด็นนะครับ ไม่ได้นอกเรื่องไปๆไหน และกำลังจะกล่าวว่า  ถ้าเราเป็นกันเช่นนี้ และเริ่มเล็งเห็นแนวคิด “ยิ่งมาก-ยิ่งดี” เป็นพิษมีภัย ก็ย่อมเป็นนิมิตหมายที่ดีว่าเราน่าจะก้าวพ้นไปมีชีวิตใหม่ที่ดีได้ ชีวิตที่มีแผนตรงกับความเป็นจริงในปัจจุบัน จะช่วยให้คุณสามารถกลมกลืนกับชีวิตส่วนอื่นๆได้

 

               เมื่อถ้าไม่ใช่ “ยิ่งมาก-ยิ่งดี” แล้ว จะเป็นอะไร แต่จะให้เป็น “ยิ่งน้อย-ยิ่งดี” นั้นผู้เขียนยังไม่ได้หมายความไปไกลถึงเพียงนั้น แค่เพียงเป็นการมีชีวิตที่รักการตรวจสอบอยู่เนืองๆ  ทบทวนเป้าหมายวิ่งอยู่เป็นนิจ เราก็จะไม่ต้องเลอะเลือนออกนอกแนวทาง

 

               เมื่อว่าจำเพาะถึงความพอดี ก็มีข้อควรพิจารณาว่า ความพอดี มันมีลักษณะเป็นอัตวิสัย เป็นพอดีของใครของมันที่ก้าวก่ายกันไม่ได้  แต่ละคนต้องไปขบคิดไตร่ตรองกันเอง ดังนั้น นักวิ่งจำต้องมีวิญญาณเป็นนักคิดอยู่บ้างในแง่นี้

 

               คำถามต่อไปนี้ ให้นักวิ่งลองถามตนเองอย่างเงียบๆในใจเพื่อเป็นการทบทวนว่า เราได้ตกอยู่ในกับดักความคิดที่เป็นพิษต่อชีวิตวิ่งหรือไม่

 

 ถ้าพบกับคำตอบปฏิเสธแม้เพียงข้อเดียว ก็เชื่อได้ว่าคุณควรกลับมาทบทวนเพื่อให้ชีวิตวิ่งกลมกลืนกับชีวิตส่วนอื่นๆได้แล้ว

 

1)      คุณมีเงินพอใช้หรือไม่  จากที่จ่ายไปเป็นค่าสมัครวิ่งบ่อยหลายสนาม

2)      คุณใช้เวลาซ้อมและแข่งขันที่แย่งเวลาไปจากครอบครัวเกินไปหรือไม่

3)      หลังซ้อมวิ่งประจำวันแล้ว คุณยังมีเรี่ยวแรงอยู่อีกหรือเปล่า

4)      คุณพอมีเวลาเข้าร่วมกิจกรรมดีอื่นๆที่นอกเหนือจากการวิ่งหรือไม่

5)      คุณคิดว่าตนเองได้ทำประโยชน์แก่โลกนี้ตามสมควรแล้วหรือยัง

6)      คุณพอใจกับฝีเท้าในปัจจุบันนี้หรือไม่  (ยังกระหายที่จะวิ่งให้เร็วกว่านี้อยู่อีกหรือเปล่า)

7)      อีก 6 เดือนข้างหน้า คุณยังมีความหวังว่าจะมีฝีเท้าที่พัฒนากว่านี้หรือไม่

8)      ถ้าคุณได้รับบาดเจ็บเพราะซ้อมมากหรือแข่งขันบ่อย  คุณจะทำใจได้หรือเปล่าว่า นี้เป็นโอกาสอันดีที่จะกลับมาทบทวนและเปลี่ยนแปลงชีวิตวิ่ง

9)      ปัจจุบันขณะ คุณมีชีวิตที่สมบูรณ์ดีอยู่หรือ ทั้งงาน ค่าใช้จ่าย ตลอดจนความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ที่ดำเนินไปอย่างสอดคล้องกลมกลืนหรือไม่

 

บรรดานักวิ่งอาชีพ , นักวิ่งนักเรียน , หรือนักวิ่งทีมชาติ  พวกเขาล้วนแต่มีโค้ชที่บอกเล่าถ่ายทอดประสบการณ์ที่หนาแน่นจากความรอบรู้จัดเจน ทั้งการแข่งขันการซ้อมและบริบทที่เกี่ยวข้องกับเรื่องวิ่ง ไม่ต้องไปเรียนรู้เองให้เสียเวลา  พวกเขาได้เปรียบกว่านักวิ่งเพื่อสุขภาพในระดับของพวกเรามาก

 

        ที่ในระดับของพวกเรา  เราต้องทำเองเหมาหมด ที่เริ่มจากฐานไร้ทรัพยากรต้นทุนองค์ความรู้ใดทั้งสิ้น  ต้องอาศัยสามัญสำนึก ต้องเป็นโค้ชตัวเอง ต้องปลุกตัวเองยามเช้าตรู่ ต้องลงแส้ตัวเอง ต้องสั่งให้ตัวเองลงมือฝึกหรือหยุดเมื่อถึงคราวต้องหยุด  ใครที่เคยมีประสบการณ์ตรงนี้ คงยอมรับว่า “ไม่ง่าย” เลย  พวกเราต้องตระหนักชัดในความหนักหนาตรงนี้ให้ได้  ผู้เขียนไม่ใช่โค้ชของพวกเรา แต่เป็นเพื่อนวิ่งหนึ่งในหลายแสนรายรอบตัวคุณที่เริ่มจากศูนย์เหมือนๆกัน ที่ผลัดกันดัน,ผลัดกันดึง,ผลัดกันแนะ,ผลัดกันเตือน  อย่างพี่อย่างน้อง  ให้สติกันและกัน  ว่า

 

จงวิ่งอย่างมีสติ

 

โดยไตร่ตรองอย่างชนิดที่ถอยออกจากฐานคติแบบเดิมที่คิด “ยิ่งมาก-ยิ่งดี” ที่เคยมีต่อการวิ่ง  เฝ้าสังเกตการซ้อม , การแข่งขันและความคาดหวังอย่างปราศจากอคติ จงหมั่นถามตัวเอง  ถ้าเราเร็วขึ้นกว่านี้แล้วเราจะยังมีความสุขหรือไม่  และจำเป็นขนาดไหนที่ต้องพัฒนาฝีเท้า ด้วยว่าวิทยายุทธฝ่าเท้าลอยลมจะไม่ใช่ได้มาเปล่าๆ แต่ต้องทุ่มเท และเมื่อทุ่มเทแล้วชีวิตเราจะมั่นคงขึ้นหรือไม่

        การพัฒนาฝีเท้ามีความหมายจริงๆเช่นไร  มีอะไรบ้างที่สูญสิ้นไปจริงๆเพื่อแลกเปลี่ยนมา

 

 

 

จงแสวงหาความมั่นคงในชีวิตวิ่ง

ชีวิตวิ่งจะมั่นคงได้ ต้องรู้ผลกระทบที่แท้จริงของการพัฒนาฝีเท้าและการทุ่มเท นั่นคือ ต้องชัดเจนว่าคุณจะพัฒนาฝีเท้าไปถึงระดับใดจึงจะเกิดความพึงพอใจสูงสุด เพราะที่เหนือก็จะมีเหนือขึ้นไปเรื่อยๆ  ที่ว่าเร็วแล้ว  ก็ยังมีคนที่เร็วกว่าไปเรื่อยๆ และแค่ไหนเป็นภาระส่วนเกิน ในเป้าหมายวิ่งของคุณ  ต้องรู้จักจัดการสภาพแวดล้อมดังกล่าวให้สอดคล้องกับชีวิตที่สงบสุข

 

ความเป็นอิสระต่อความเย้ายวน

 

เราจะไปถึงจุดที่เรียกว่า “รักษาระดับ” ได้อย่างไรและเมื่อไร โดยธรรมชาติคนเราไม่สามารถคร่ำเคร่งเอาจริงเอาจังได้ตลอดไป นี่กล่าวอย่างไม่ประมาท

        เมื่อกล่าวถึงความอิสระจากชีวิตวิ่งที่เย้ายวนจากความคิด “ยิ่งมาก-ยิ่งดี”  ไม่ใช่จะได้ผลเพียงแค่การประหยัดค่าใช้จ่ายจากการลงสนามแข่งจำนวนมากเท่านั้น  แต่ยังรวมถึงความเป็นอิสระจากพันธนาการต่างๆเช่น ความสามารถร่วมมือร่วมใจกับชุมชนนอกสังกัดกลุ่มวิ่ง ที่จะมีบทบาทต่อบ้านเมือง ต่อปริมณฑลที่คุณคิดว่ามีคุณค่า  ไปจนถึงอิสรภาพจากการไม่ต้องไปซ้อมทุกวี่ทุกวัน

 

อิสรภาพในที่นี้ก็คือ ทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำให้

คุณมีชีวิตที่ไม่ตกเป็นทาสการวิ่งนั่นเอง

 

 

        ในที่สุด  เราก็จะได้ตระหนักว่า ฝีเท้าวิ่งที่อุตส่าห์ฝึกกันแทบเป็นแทบตายนั้นมีไว้เพื่ออะไร ที่ว่าเพื่ออะไรนี้ แต่ละคนต้องไปขบคิดจากบริบทแวดล้อมของตัวเอง  โดยจะเป็นอะไรที่ ไม่ใช่เอาแต่ถ้วยเต็มบ้านหรือถ้วยพระราชทานแต่อย่างเดียว และก็ไม่ใช่มีไว้เพื่อที่จะวิ่งขับกับ Someone ให้ชนะ แล้วก็ไม่ใช่โอกาสสำหรับจะยืดหน้าอก อวดศักดาบนโพเดี่ยม  แต่กลับเป็นไปเพื่อตัวของคุณเองตรงที่ บ่มเพาะความสม่ำเสมอแห่งวินัยในตัวเอง ให้เปลี่ยนแปลงจากคนที่ไม่เคยทำอะไรได้เป็นชิ้นเป็นอันให้สามารถค้นพบและชื่นชมกับตนเองได้ พร้อมๆกับที่ซาบซึ้งในความสวยสดงดงามของนักวิ่งอื่นไปพร้อมๆกัน.

 

 

12:25  น.

20  ก.ย.  2547