<% Set FileObject = Server.CreateObject("Scripting.FileSystemObject") Dir = Request.ServerVariables("SCRIPT_NAME") Dir = StrReverse(Dir) Dir = Mid(Dir, InStr(1, Dir, "/")) Dir = StrReverse(Dir) HitsFile = Server.MapPath(Dir) & "\hitcounter\hits_marathon_by_marathon_bykrit.txt" On Error Resume Next Set InStream= FileObject.OpenTextFile (HitsFile, 1, false ) OldHits = Trim(InStream.ReadLine) NewHits = OldHits + 1 Set OutStream= FileObject.CreateTextFile (HitsFile, True) OutStream.WriteLine(NewHits) %> มาราธอนต่อมาราธอน 1โดยกฤตย์

ผู้เยี่ยมชมตั้งแต่วันที่ 8ก.ย.48<% L=Len(NewHits) i = 1 For i = i to L num = Mid(NewHits,i,1) Display = Display & "" Next Response.Write Display %>

 

 

มาราธอนต่อมาราธอน 1

 

โดย   กฤตย์   ทองคง

 

               ถ้าจะแบ่งคำถามเกี่ยวกับเรื่องวิ่งที่ผู้เขียนได้รับออกเป็น 2 ประเภท  คงจะไม่ใช่เรื่องที่ตอบง่ายประเภทหนึ่งและตอบยากประเภทหนึ่ง  หากแต่เป็นเรื่องที่ตอบได้อย่างสบายใจหนึ่งกับตอบอย่างลำบากใจอีกหนึ่ง

               พูดอย่างนี้ผู้อ่านหลายท่านคงจะเลิกคิ้วอย่างให้ความสนใจ  อยากทราบว่า มีอะไรติดขัดให้ต้องเกรงอกเกรงใจใครอย่างนั้นหรือ?  ไม่ใช่เช่นนั้นหรอกครับ

ก็ลองดูคำถามเหล่านี้เถิด

               “ผมกำลังบาดเจ็บอยู่ แต่อยากวิ่งมากเหลือเกิน ทนไม่ไหว อยากทราบว่าผมจะวิ่งได้ไหม จะวิ่งอย่างไรไม่ให้เจ็บมากขึ้น”  อะไรประมาณนี้

               โธ่เอ๋ย..เป็นคำถามที่บีบคอผู้ตอบแท้ๆ  ซึ่งโดยนัยแห่งคำถามแสดงพอให้ผู้ถามทราบอยู่แล้วว่า  ต้องหยุดวิ่ง , ต้องพักวิ่ง  แต่ก็ยังมายัดเยียดให้ผู้เขียนเค้นหาทางออกมาให้ได้ว่า จะวิ่งท่ามกลางสถานการณ์อย่างนี้โดยปลอดภัยได้อย่างไร

               หลังจากที่ทำหน้าบูดหน้าเบี้ยวไปพักหนึ่ง  ผู้เขียนก็ได้ให้ความเห็นไปว่า  เห็นจะไม่ได้หรอกครับ  อาการของคุณอย่างนี้ ไม่ใช่เล่นๆที่จะมาจ็อกได้  ต้องหยุดจริงๆ และทำใจให้ได้  แล้วก็ปลอบให้ไปเล่นเวทบ้าง , เล่นครอสเทรนนิ่งส์บ้าง  แต่คนที่ไม่เคยก็ไม่ยอมลอง ติดกิจวัตรเป็นคนหัวโบราณ  ทั้งๆที่อธิบายว่ามันดีนะ  เพราะในขณะที่กล้ามเนื้อ , กระดูกและข้อได้รับการพักฟื้น  แต่ระบบหัวใจและปอดที่มันจะตกประสิทธิภาพได้ง่ายๆกลับสามารถฝึกต่อได้  คอยรับการกลับมาซ้อมจริงๆเต็มสูบในเดือนข้างหน้า  บอกไปเขาก็ไม่สนใจ

อย่างคำถามนี้ก็อีกเช่นกัน

               “จะซ้อมระหว่างมาราธอนสองสนามที่ใกล้กันอย่างไร”

เป็นคำถามที่สั้นกระทัดรัด ได้ใจความ ฟังแล้วไม่เคลือบแคลง  แต่จะตอบให้สบายใจนั้นลำบากจริงๆ  เพราะมีตัวอย่างที่เห็นเจ็บมาเยอะแล้วกับกิโลเมตรจำนวนมากที่ถูกยัดทะนานเข้ามาในคาบระยะเวลาที่จำกัด ทั้งซ้อมและแข่งขัน

               บางรายยัดได้ยัดดี  ที่เมื่อเราเห็นจำนวนกิโลแล้วให้ตกใจ ฝีเท้าปีเดียวแต่แผนซ้อมมโหฬาร  แล้วผลออกมาก็เกินพอใจ ไม่เจ็บด้วย  พัฒนาวันพัฒนาคืน กลับมาซ้อมต่อได้ไม่กี่วัน ครบสัปดาห์ก็ไปฮาล์ฟอีก  ผลเวลาสนามแข่งยังจะออกมาเย้ยเราให้เผาตำราทิ้ง  ยิ่งดีขึ้นไปอีก  จนกระทั่งผู้เขียนยอมจำนน  ทำใจแล้วว่ายอดจริงๆ  แปลกใจว่าเขาทำได้ไง  เทวดาหรอกให้เขาเหิมเกริมกับความสำเร็จ  จะได้เดินลงหลุมศพอย่างสนิทใจ  เดี๋ยวนี้เจ็บมาแล้วเป็นปีก็ยังไม่เข้าที่  พอวิ่งทีไรก็เจ็บทีนั้น  นึกว่าก็คงหนักแค่นั้น  ไหนได้  ผ่านมาอีกนึกว่าจะค่อยยังชั่ว เพราะหยุดพักนานแล้ว  แต่กลับหนักขึ้นไปอีก  ไม่วิ่งยังเจ็บเลย  บ้าย..บาย  ชีวิตวิ่ง

               ที่ถามกันก็คือ  ทำไมตอนที่ทำผิดพลาดตั้งแต่ต้นจึงไม่เจ็บตอนนั้น  ผู้เขียนก็ไม่ทราบนะ  ใครจะไปรู้ได้ ว่าระดับวามตื้นลึกหนาบางของสรีระแต่ละคนมันไม่เท่ากัน  แต่เมื่อผ่านประสบการณ์ของเขามาแล้วทำให้ผู้เขียนมั่นใจว่า  ถ้าลองคุณได้ยัดทะนานการฝึกที่เข้มข้นเกินระดับตัวเองเข้าไปมากเกินจริง  แน่ใจได้ครับว่าเจ็บแน่ๆ  ว่าแต่จะเมื่อไรเท่านั้น    ที่ยังไม่เจ็บและวาดลวดลายอยู่บนฟลอร์  ก็แปลว่ากำลังจะเจ็บในอนาคต  อย่างแน่นอน       It’s predictable  !

               ผู้เขียนได้เคยให้แผนฝึกที่ให้ค่อยๆเพิ่มความเข้มเมื่อขากลับมาจากมาราธอนเพื่อการฟื้นตัวและแจงรายละเอียดถึงการหยุดสนิทต่อด้วย 25% , 50% , 75% และ 100% จำนวน 5 สัปดาห์แล้ว  ถ้าใครผ่านตามาก็คงพอระลึกได้ว่าผู้เขียนเคยอธิบายว่าเบื้องหลังความแข็งแกร่งของร่างกายมนุษย์จะมีได้นั้น  จะต้องอาศัยการฝึกฝนและพักฟื้นอย่างสมดุลกัน  เมื่อไรควรฝึก  เมื่อไรควรฟื้น  มันต้องมีจังหวะจะโคนที่เป็นของตัวเองให้เขาผู้นั้นต้องศึกษาและจดจำ  การถโหล่เหยียบทั้งเบรกและคันเร่งพร้อมๆกัน  เครื่องจะพัง

               หลังมาราธอนเป็นระยะที่สมควรอย่างยิ่งที่ต้องพักฟื้นนานเป็นเดือน ไม่เว้นแม้กระทั่งแนวหน้า (ที่รักทำตัวได้ถูกต้อง)  แต่เรากลับคาดหวังว่า ระยะเวลานี้ต้องเป็นคาบระยะฝึกใหม่ เพื่อเตรียมตัวไปแข่งมาราธอนในเวลาไม่นานข้างหน้า มันจึงกลายเป็นงานหนักมาราธอนแรกต่อหนักเพื่อฝึก แล้วก็ต่อหนักเพื่อลงมาราธอนครั้งที่สอง  มันจึงเป็นอะไรที่เสี่ยงมากๆเลย

               คำถามนี้  ขอแนะนำว่า  จงล้มเลิกมาราธอนสองเสียเพื่อที่จะได้เลิกฝึกเตรียมระหว่างนั้นไปด้วย  หรือไม่ก็เลือกแค่มาราธอนสองแล้วทิ้งมาราธอนแรก  ให้เลือกเพียงสนามเดียว  และกรุณาอย่ายกตัวอย่างคนโน้นคนนี้มาเล่าว่า  ขนาดเขายังไม่เป็นไร  ผู้เขียนอยากจะใช้บั้นปลายชีวิตกับคำแนะนำที่ให้ไปอย่างถูกต้องเหมาะสมกับวงการ  มากกว่าเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ(ในบางคราว)ที่อาจเจือปนกับรอยคราบบาปกรรม

               ก็บ้านเรา  บางจังหวะจัดวิ่งกันเข้าไปได้  เต็มมาราธอนสนามโน้นสนามนี้ จัดกันใกล้เสียเหลือเกิน  3-4 สนามใน 30 วัน  นักวิ่งก็ตามไปอุดหนุนผู้จัดจนเจ็บระงม  จะไปโทษผู้จัดเขาก็ไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง  เราจะกล่าวโทษร้านอาหารที่มาตั้งเสนอมากมายหลายเจ้ากระทั่งทำให้เราพุงแตกไม่ได้  เขาขายได้ แต่เราต้องเลือกบริโภค  สิทธิ์ขาดมันอยู่ที่เรา  ณ ปัจจุบันโลกเข้าสู้ยุคนาโนแล้วแต่ตีคู่ไปกับตรรกสมัยพระเจ้าเหาหลงยุคว่า “จัดได้ก็วิ่งได้”  เป็นอะไรที่ชวนให้รู้สึกว่า  บ้าที่สุดที่คิดได้แค่นี้

               แม้จะเตือนว่า อย่าไปสนามรบ  แต่คนมันจะไป  แม้จะตายก็ยอม  ดังนั้นแผ่นผ้ายันต์สักผืนก็อาจนับได้ว่าดีกว่าไม่มีอะไรติดกายเลย  ถ้าตายไปก็อย่ามาโทษผ้ายันต์ก็แล้วกัน

1.  นี่ไม่ใช่แผน ที่แนะนำให้วิ่งได้เร็ว  ได้แชมป์

2.  นี่ไม่ใช่แผน ที่จะแนะนำให้วิ่งมาราธอนต่อมาราธอนภายในระยะสั้น 15-20 วัน

3.  นี่เป็นแผนรับมือที่มีโบรชัวร์สองแผ่นห่างกันราวเดือนหนึ่งถึงเดือนครึ่ง

4.  นี่ไม่ใช่แผนฝึก ที่จะพัฒนาอะไรขึ้นมาได้  แต่น่าจะเป็นความพยายามที่จะบอกว่า

     ระยะห่างระหว่างโบรชัวร์ 2 แผ่น เราน่าจะทำอะไรได้ดีที่สุด

5.  นี่เป็นแผน ที่ใช้ไม่ได้กับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากสนามมาราธอนแรก  ดังนั้นผู้ทดลองจึงควรจับสังเกตอาการดูให้

     ดีตลอดจนจบมาราธอนสองให้ไวต่อความผิดสังเกตต่างๆ  โดยเฉพาะตั้งแต่ท่อนล่างลงไป

 

               ให้แบ่งระยะเวลาที่อยู่ระหว่างสองมาราธอนออกเป็น 2 ส่วน คือ  ส่วนแรก เรียกว่า ส่วนพักฟื้น  และส่วนหลังเรียกว่า  ส่วนเตรียมตัว  มันอาจจะกี่วันก็แล้วแต่ว่าผู้จัดทั้งสองโบรชัวร์จะวางสนามห่างกันเท่าไร

               ณ ที่นี้สมมุติให้ห่างกันราว 30-45 วัน

ให้แบ่งเฉพาะส่วนพักฟื้นอีกครั้งเป็น 2 ช่วง คือช่วงแรกกับช่วงที่สอง  ช่วงแรกให้หยุดสนิท  ห้ามวิ่งเลย  ช่วงที่สองให้ออกจ็อกแต่เบาในระยะสั้นด้วย  โดยส่วนพักฟื้นทั้งหมด ไม่ต้องมีโปรแกรมคอร์ทหรือแผนเข้มใดๆเลยทุกระดับฝีเท้าและความสามารถ ถ้าสังเกตอาการอยู่และรู้สึกยังเข็ดและล้ามาก  ส่วนที่สองนี้ ก็ให้เสริมปนหยุดบ้างก็ได้

               ในส่วนเตรียมตัวก็ให้แบ่งเป็น 2 ช่วง คือช่วงแรกให้ฝึกยาวสักครั้งเดียวที่ราว 28-32 ก.ม. หรือต่ำกว่าก็ได้  และอย่าให้วันฝึกยาวนี้ เข้าใกล้วันแข่งมาราธอนสนามสองนี้ ต่ำกว่า 10 วันเด็ดขาด

               นอกจากนี้ถ้าหลังจากสังเกตอาการอยู่ตลอดพบว่าตัวเอยังสามารถรับได้ก็ให้ลองฝึกเข้มบางวัน เช่น คอร์ท , ขึ้นเขา หรือวิ่งเทมโป  ถ้าคุณเคยฝึกมาก่อน แต่ถ้าไม่เคยก็เว้นไปอย่าให้ติดกัน  และไม่ควรให้เข้มเท่าอัตราคอร์ทเดิม  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 4 วันสุดท้าย  ถ้าเป็นไปได้ ให้หยุดตีรวดทีเดียวติดกันน่าจะดีที่สุด

สรุปภาพออกมาให้ชัดเจน  โดยเรียงตามลำดับดังนี้

มาราธอนแรก

               #  ส่วนพักฟื้น  แบ่งเป็น 2

-         ช่วงแรก  หยุดสนิท

-         ช่วงที่สอง  ให้เบา

#  ส่วนเตรียมตัว  แบ่งเป็น 2

-         ช่วงแรก  ยาวหนเดียว 28-32 ก.ม. และโปรแกรมเข้มบางวัน

-         ช่วงที่สอง  ให้ Taper  เบาแผนโดยการหยุดพัก

มาราธอนที่สอง

              

หลังจบมาราธอนสองแล้ว ก็ให้นักวิ่งหยุด และเจียมตัวมากที่สุด  กลับเข้าถ้ำ  จำศีลภาวนา  กินเยอะๆนอนมากๆ อ่านหนังสือ(ที่ไม่ใช่หนังสือวิ่ง)  ดูวีซีดี  จนร่างกายพักอย่างพอเพียง แล้วค่อยกลับเข้าสนามซ้อมแต่น้อยก่อน  อย่างนี้จะทำให้คุณเป็นนักวิ่งที่มีอนาคต  สามารถวิ่งอยู่ในวงการได้นานครับ

  

01:00  น.

22  พฤษภาคม  2548

วิสาขะบูชา