ควรให้เด็กวิ่งระยะไกลหรือไม่
ปัจจุบันมีเด็กวิ่งระยะไกล เพื่อสุขภาพกันมาก โดยการถูกชักชวน และเข้าร่วมแข่งขันวิ่งระยะไกล ถึงแม้จะมีเด็กที่วิ่งได้ก็ตาม แต่ก็ควรกระทำอย่างระมัดระวังให้มาก ๆ เพราะจะเกิดอันตรายได้ง่าย โดยเฉพาะเด็กที่มีอายุระหว่าง 10-15 ปี ถ้าวิ่งมากไป จะทำให้เกิดอาการเจ็บที่ด้านหน้า ตอนบนของกระดูกหน้าแข้งได้ ทำให้เห็นเป็นปุ่มกระดูกนูนขึ้น อาจมีการหลุดของชิ้นกระดูกบริเวณนั้นได้ มีอาการเจ็บปวดเสียวอยู่ตลอดเวลา
เมื่อวิ่งหรือเดินเร็วในผู้ใหญ่ ก็สามารถพบปุ่มกระดูกที่นูนบริเวณหน้าแข้งตอนบนได้ ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากการบาดเจ็บในวัยเด็กนั่นเอง บางครั้งต้องรักษาโดยการผ่าตัด เอาชิ้นกระดูกนั้นออกจึงจะหายได้ ในเด็กอายุระหว่าง 8 - 15 ปี จะมีอาการปวดที่หลังส้นเท้า เดินกระเผลก จากการที่วิ่งมากไป ทำให้เอ็นร้อยหวาย ที่เกาะบริเวณกระดูกส้นเท้านั้นดึงหรือกระตุก เกิดการอักเสบขึ้น ถ้าเป็นมากขึ้นไปอีก จะถึงกับดึงให้มีการแยกของกระดูก ที่สร้างการเจริญเติบโต ฉะนั้นอาจทำให้การเจริญเติบโตของส่วนนั้น มีความผิดปรกติได้
ดังนั้นการวิ่งเพื่อสุขภาพในเด็ก จึงไม่ควรบังคับเด็ก ควรวิ่งแต่พอดี ในแง่ความสนุกสนานเพลิดเพลินมากกว่า ในการแข่งขันวิ่งระยะไกล บางแห่ง จึงมีการ กำหนดอายุ ของผู้เข้าแข่งขัน เช่นห้ามอายุน้อยกว่า 18 ปี เข้าร่วมการแข่งขันเป็นต้น นอกจากนี้การบังคับเด็ก อาจทำให้เด็กเกลียดการออกกำลังกายไปเลย
( จากหนังสือ บาดเจ็บจากการวิ่ง โดย รศ.นพ. ธีรวัฒน์ กุลทนันทน์ )