ผู้เยี่ยมชมตั้งแต่วันที่ 9 ก.ย.50

เพิ่งจะเริ่มแข่ง

 

โดย   กฤตย์   ทองคง

 

               จากที่เป็นนักวิ่งหน้าใหม่อยู่พักหนึ่ง  ชักสนุกใจ ไปสมัครลงสนามแข่งตามเพื่อนชวน  กับเหรียญแรกที่มาให้ชื่นชมใหลหลง  จนติดวิ่ง ย่อมเป็นสิ่งดีอย่างไม่มีข้อสงสัย  แต่เพื่อนใหม่บางรายกลับหลงทางไปกับเสน่ห์บางอย่างที่ไม่เป็นคุณกับตัวเอง  เพิ่มแรงเครียดให้กับร่างกายและจิตใจอย่างไม่จำเป็น  บ่อยครั้งที่ก้าวล้ำเส้นเสียสุขภาพไปไม่น้อย  ทั้งๆที่เมื่อแรกเข้าวงการ  ปากก็พร่ำบอกว่า “เพื่อสุขภาพ”  ไปๆมาๆกลับมีพฤติกรรมที่สวนทางกับที่พูดเสมอมา

               การที่จะลงแข่งวิ่ง  ทั้งๆที่ผู้วิ่งสามารถรักษาความสมดุลระหว่างร่างกายและจิตใจไว้ได้ สมควรที่ผู้วิ่งจะได้ทำความเข้าใจแต่ละประเด็นให้กระจ่างชัดดังต่อไปนี้

 

1.  ถมดินให้แน่นก่อนปลูกสร้าง

               ข้อผิดพลาดประการสำคัญของบรรดานักวิ่งแข่งหน้าใหม่ ก็คือ การลงพัฒนาความเร็วก่อนเวลาอันควร  แทนที่จะใช้ช่วงเวลาเริ่มต้นนี้ เพาะบ่มความแข็งแกร่งให้เข้าฝักเสียก่อน  คนเราจะวิ่งด้วยความเร็ว  โดยปลอดภัยไม่บาดเจ็บได้ ก็ต่อเมื่อคุณวิ่งช้าให้ได้ทนทานเสียก่อน  อย่าข้ามขั้น

               ปลูกสร้างบ้านให้เริ่ดหรูบนดินที่ถมไว้ยังไม่แน่น ฐานรากไม่ดีต้องลงเข็ม  นี่เข็มก็ไม่ลง ยิ่งไปกันใหญ่

ธรรมชาติมันโหดร้ายกว่าที่คิด ที่ตามเหตุผลแล้วมันไม่น่าจะพัฒนาได้ แต่มันก็กลับอนุญาตให้คุณพัฒนาขึ้นมาระดับหนึ่ง  ก่อนที่จะทวงคืนพร้อมดอกที่แสบสันต์ยิ่งนัก

               จะปลูกสร้างบ้าน มันก็สร้างได้อยู่  จะกี่ชั้นก็ได้  แต่วันดีคืนดีมันทรุดฮวบลงกลบร่างท่วมมิดมืดอนาคต  แม้คุณจะลงคอร์ทพัฒนาความเร็ว ผลที่ได้ คุณจะเร็วขึ้นมาได้จริงๆ  บางทีอาจได้ถ้วยด้วยซ้ำ ไม่ใช่เรื่องที่แปลก แล้ววันร้ายคืนโหดก็ร่วงอย่างแรง อย่างเร็ว  ปิดม่านจบฉากอย่างถาวร  ไม่รู้กี่รายต่อกี่รายแล้ว

 

2.  จงมีแผนการฝึกเพื่อพัฒนาความเร็ว ที่เหมาะสมกับตัวเอง

               หลังจากเป็นนักวิ่งช้าได้ทนทานมาระยะหนึ่งแล้ว  ค่อยแสวงหาแนวทางการพัฒนาฝีเท้าจากผู้รู้,จากโค้ช,จากเพื่อนนักวิ่งเก่า,จากแชมป์ประจำชมรมวิ่ง มีหลายสูตรหลายวิธีการ  แต่มีคำแนะนำอยู่ว่า จงฝึกเพียงนิดหน่อยเท่านั้นแต่สม่ำเสมอ   อย่ามาก  อย่าพยายามทาบรัศมีกับผู้อื่น พูดอย่างนี้นี่ไม่ใช่ฉันไม่อยากให้เธอวิ่งได้เร็วกว่าฉัน  แต่ฉันเกรงเธอจะเจ็บไป บอกไว้ด้วยรักและห่วงใย ไม่ใช่เห็นแก่ตัว ถ้าแน่ใจว่าเร็วได้และปลอดภัยดี ฉันรึจะไม่ส่งเสริมเธอได้อย่างไร  ก็เราเป็นเพื่อนนักวิ่งกันมิใช่หรือ  เหนือฉันไปก็มีแชมป์อื่นอีกพะเรอเกวียน ศึกข้างหน้าใหญ่หลวงนัก

               การฝึกเพื่อพัฒนาความเร็ว  โดยทั่วไปมีอยู่ 2 ลักษณะ คือ การลงคอร์ท (Interval running) คือการวิ่งให้เร็วกว่าปกติในระยะสั้นๆ  (เพราะไกลๆไปไม่ไหว ไม่ไหวเพราะมันเร็ว)  โดยจัดให้มีวิ่งจ็อกเบาสลับ  ทำกลับไปกลับมาอย่างนี้หลายๆเที่ยว  ประเด็นความสำเร็จอยู่ที่หลายเที่ยวและการแช่เย็น ไม่ใช่ตัวความเร็ว  จำไว้  กับการวิ่งอีกลักษณะ คือวิ่งที่เร็วกว่าปกติอีกเหมือนกัน  แต่ไม่ได้มีวิ่งช้าจ็อกสลับ เป็นการวิ่งเร็วที่ต่อเนื่องไปได้เรื่อยๆ ไปได้นานๆ  แน่นอนครับ  เพราะมันต้องวิ่งไปได้เรื่อยๆนี่เองมันจึงเร็วมากไม่ได้ มันจึงเป็นความเร็วคล้ายที่เราลงสนามจริงนั่นเอง ที่ผู้เขียนเห็นควรจะเรียกว่าวิ่งเทมโป  (Tempo  running)

               คุณจะเลือกฝึกอย่างคอร์ทก็ได้ หรือจะฝึกอย่างเทมโปก็ได้ หรือผสมกันก็ได้อีกเช่นกัน  แต่เมื่อเลือกฝึกแบบผสม  ก็จงใช้สามัญสำนึกพิจารณาลดความหนักหน่วงของการวิ่งเดิมลง เพื่อให้ร่างกายมีโอกาสได้ลงหนักในการฝึกใหม่ได้ นั่นเอง

 

3.  การวิ่งยาว คือ หัวใจสำคัญ

               ก็ลองตรองดูซิครับ  ความเร็วที่เราฝึกปรือมานั้น จะไร้ประโยชน์ไปเลยหากเราปราศจากความทนทานที่จะต่อเนื่องการวิ่งนั้นได้อยู่  ที่ถูกต้อง นักวิ่งเพื่อการแข่งขันจะต้องพัฒนาทั้งความเร็วและความอึด และความอึดที่เรากำลังจะกล่าวถึงนี้จะได้มาจากการฝึกวิ่งยาวเป็นสำคัญนี่เอง

               มีนักวิ่งเพียงบางคนเท่านั้นที่จะวิ่งเร็วได้  แต่มีนักวิ่งทุกคนที่สามารถวิ่งให้ได้ไกลขึ้นได้  นี่เป็นความจริงขั้นแรก  แต่ถ้าจู่ๆคุณเกิดไปวิ่งยาวเข้าให้เท่ากับเป้าหมายที่เราต้องการนั้น ก็อาจได้รับบาดเจ็บได้  เรื่องมันจึงอยู่ที่จงค่อยๆเพิ่ม สลับกับการกระทำซ้ำๆไปเรื่อยๆ  ที่ผู้เขียนนิยมเรียกว่า “การแช่เย็น” ยิ่งนานวันเข้า ผู้เขียนก็ยิ่งมหัศจรรย์ใจกับความสำคัญของการแช่เย็นสลับกับการเติมความเข้มเข้าไปทีละนิดอย่างต่อเนื่อง ว่ามันจะทำให้ผู้วิ่งประสบความสำเร็จได้อย่างน่าทึ่ง

 

4.  จงเห็นความสำคัญของการหยุดพัก

               ในตารางวิ่ง  แผนการฝึกที่ถูกเอาใจใส่น้อยที่สุดคงไม่มีแผนใดได้รับเท่ากับการพักวิ่ง หรือ วิ่งเบา  ทั้งๆที่การฝึกโดยปราศจากพักหรือเบานี้คือความเขลาอย่างยิ่ง

               อย่าเห็นการหยุดหรือพัก คือการขาดโอกาส ที่อยู่ในบัญชีเดียวกับการอ่อนซ้อมเป็นอันขาด  ในแผนตารางวิ่งที่ถูกออกแบบมาอย่างรอบคอบ ในวันที่ระบุให้เบาหรือพักวิ่งนั้น ให้คุณค่าประหนึ่งว่าเป็นการฝึกอีก Session หนึ่งทีเดียว  ไม่ว่าคุณจะขยันขนาดไหนก็ตาม  เมื่อตารางบอกหยุดคุณต้องหยุด  เมื่อบอกว่าเบาต้องเบาจริง  อย่าถโหล่ เพื่อนเอย

 

5.  สมควรไปสนามแข่งเป็นระยะๆ

               ในอีกมุมตรงข้าม อย่าเอาแต่ฝึกๆให้เต็มที่  โดยเข้าใจว่า เมื่อเราฝีเท้าดีแล้ว ย่อมสามารถปราบดาภิเษกพิชิตชัยได้เสมอ เมื่อนานไป ฝึกฝีเท้าให้ดีที่สุด แล้วค่อยไปสนาม ซัดตูม ให้สนั่นสะเทือนวงการเลย   ถ้าคุณคิดเช่นนี้  คุณไม่ใช่รายแรกที่คิด และก็คงไม่ใช่รายแรกที่คว่ำไม่เป็นท่าอีกด้วย

               ด้วยว่า ความเป็นจริงที่เอื้อต่อชัยชนะ ไม่ได้มีแต่ฝีเท้าเท่านั้น  ลองนึกดูซิครับ หากคุณปวดอุจาระผิดเวลา หรือลืมเอาบัตรประชาชนมา หรือลืมเอารองเท้าวิ่งใส่กระเป๋ามาด้วย  สิ่งเหล่านี้แม้ว่ามันไม่ใช่สิ่งที่ลดทอนฝีเท้าลงโดยตรง แต่มันก็สามารถดับฝันจอมอหังการได้ผลอย่างชงัดนัก

               มิใช่เพราะหัดเรียนรู้ที่จะจัดการกับสภาวะที่ต้องแข่งขันดอกหรือ  ที่หล่อหลอมให้คุณเชี่ยวชาญจัดการกับมันได้เป็นอย่างดี

               เพื่อนนักวิ่งของเรารายหนึ่ง  เห็นเพื่อนที่มาด้วยกันลุกตื่นแต่ตีสอง ก็ลุกกับเขาด้วย ทั้งๆที่ทั้งกลุ่มเขาลงมาราธอน แต่ตัวเองลงสิบโลที่ปล่อยตัวตอนหกโมงเช้า

               นี่คือฤทธิ์เดชของนานๆทีมาสนาม  สิ่งเหล่านี้จะไปบั่นทอนฝีเท้าของคุณที่ฝึกมาอย่างมั่นใจให้พลอยเจ๊งลงไปอย่างน่าเสียดาย

 

6.  ให้แข่งกับตัวเองเท่านั้น

               เชื่อว่าเป็นประโยคที่ใครๆก็เคยได้ยินมาทั้งนั้น แต่ผู้ที่ถือปฏิบัติกลับมีจำกัด  อย่าทำให้มันเป็นแค่ประโยคนามธรรม  สถิติเวลาที่ดีที่สุดเมื่อสามเดือนก่อนอย่าแน่ใจนะว่าเราจะยังสามารถทำได้อีก  ด้วยการคิดแข่งขันกับตัวเองเท่านั้นเช่นนี้จะทำให้คุณจัดการกับมันได้ในระดับความยากง่ายที่กำลังดี

 

7.  จงหาระดับ Pace ของตัวเองให้เจอ

               ของอย่างนี้ ไม่เคยมีใครรู้ระดับของตัวเองมาแต่อ้อนแต่ออก  ต้องมาเรียนรู้เอาเองจากการฝึก จากการลองกันทั้งนั้น  ที่จะต้องมีลักษณะคลำจากผิดไปหาถูกเสมอ  ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้  ทำไมไม่ลองให้ผิดแบบให้ช้าเกินไป แล้วค่อยปรับขึ้นในครั้งต่อไป  ซึ่งย่อมจะดีกว่าการลองผิดแบบเร็วเกินไป แล้วค่อยปรับช้าลง จะมิดีกว่าหรือ  เมื่อเราพบระดับนั้นแล้ว ก็ให้พัฒนาขึ้นไปอีก โดยพยายามวิ่ง  Negative Split  คือวิ่งครึ่งหลังของระยะทางให้เร็วกว่าครึ่งแรกเล็กน้อย

               อยากให้คุณเชื่อผู้เขียนไปก่อน  เพราะเหตุที่ควรจะวิ่ง  N.S. มีมากมายที่จะไม่ขอกล่าวในที่นี้  ลองพยายามทำดู เมื่อทำได้สำเร็จแล้วคุณจะรู้ซึ้งว่ามันดีกว่าจริงๆ

 

8.  จัดหาเวลาพักให้พอเพียง

               กับที่เราอ่อนเปลี้ยมา ไม่ว่าจากการแข่งหรือซ้อมหนัก  อย่ากลับเข้าสนามซ้อมเร็วเกินไป  (Too soon) เพียงเพราะเห็นใครๆที่กลับจากแข่งเหมือนกันไปซ้อมกันแล้ว  กลัวไม่ทันเพื่อน  แต่ละคนมีการสนองตอบต่อการซ้อมหรือแข่งที่ไม่เหมือนกัน  จะเอาพฤติกรรมผู้วิ่งคนอื่นมาตัดสินตัวเรา ย่อมไม่ได้อย่างเด็ดขาด

               ที่ว่าในมิติให้ลึกลงไป  ไอ้ทึ่มที่มันกลับมาซ้อมแล้วนั้น ข้างในมันก็ยังไม่เข้าที่ ฝืนโขยก ทนความชอกช้ำด้วยความเขลาคลุกเคล้ากับการอวดเก่ง  เอามาดเอาฟอร์มมาข่มเรา  เรื่องอะไรจะไปบ้าจี้วิ่งตามมัน  ทั้งๆที่ความรู้สึกก็ฟ้องอยู่ทนโท่  เข้าภาษิตนิทานเรื่องฉลองพระองค์ของพระราชา

               ผู้เขียนถึงมักตั้งคำถามกับพวกเราเสมอๆไงครับว่า  “เรามาวิ่งกันทุกวันนี้เพื่ออะไร”  เพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของเรา  ,  For the rest of my life. , หรือเพื่ออวดเว่อร์อัตตา เป็นอึ่งอ่างพองลม

 

 

0:10  น.    1  มีนาคม  2548

แนวทางจาก             Principled Running

โดย          Joe  Henderson

R.W.  Oct  2003   P.28