โรคข้อเสื่อม

 

 

พิทย์กับเพียร เป็นคู่สามีภรรยาพากันมาพบแพทย์  เพราะภรรยาเจ็บหัวเข่า  แพทย์ตรวจแล้วบอกเพียรว่า  เป็นโรคข้อเข่าเสื่อม

 

พิทย์  :  " อะไรกันหมอ  อายุสามสิบ นี่น่ะหรือเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม "

แพทย์ :  " ยี่สิบก็เป็นได้แล้ว "

 พิทย์  :  " หมายความว่าแก่แล้ว   ใช่ไหม จึงได้เสื่อม"

แพทย์ :  " ไม่ใช่  คำว่าเสื่อม หมายถึงการเสื่อมสภาพ ( Degeneration )

                ไม่จำเป็นต้องแก่ ( Aged ) ก็เสื่อมได้ ก่อนอื่นต้องขอให้คุณเพียรเล่าอาการหน่อย "

เพียร  :  " มันเกิดเจ็บหัวเข่าขึ้นมาเฉย ๆ โดยเฉพาะตอนเช้า ๆ ข้อจะผืดมาก "

แพทย์ :  " ได้รับบาดเจ็บบ้างหรือเปล่า " 

พิทย์  :   " ไม่เลย ...."

เพียร  :  " ก็อาจจะมีบ้าง คือตอนที่อยู่บนเตียง..."

แพทย์ :  " ทำอะไร  อย่างไร  ลองอธิบายหน่อย "

เพียร  :  " เอ้อ...อย่าดีกว่า..."

แพทย์ :  " อ้าว  เป็นความลับด้วย  อ้อ  เดาเอาว่าคุณสองคนเล่นกันแรง

               ไปหน่อยละซี   แล้วก็ผิดท่าด้วยละซี  ถ้าใช่ก็ขอให้นาน ๆ ใช้ที  อย่าทำเป็นประจำ "

พิทย์  :  " ก็ท่าอื่นมันดูทีวีพร้อมกันไม่ได้นี่หมอ  อย่าซอกแซกมากนักได้มั้ย  "

แพทย์ : " ก็ได้  จาการตรวจเข่าภรรยาของคุณ  พบว่ามีความไม่สมดุลเกิดขึ้น "

พิทย์  :   " เอ๊ะ  เข่าสองข้างดูเท่ากันดีนี่หมอ "

แพทย์ :  " ไม่จรองหรอก  ที่เท่ากันมีอย่างเดียว  คืออายุ  แต่ที่ไม่เท่ากันมีเยอะ

            เพราะคนเรามักใช้เข่าข้างซ้ายกับข้างขวาไม่เท่ากัน ทำให้เข่าสองข้างมีโอกาสไม่เท่ากันได้  ทั้งรูปร่างและความแข็งแรง "

พิทย์  : " ข้อเข่าเป็นโรคเดียวกับกระดูกงอกใช่ไหม "

แพทย์ : " บังเอิญข้อที่เสื่อม มักมีหินปูนเกาะกระดูกรอบข้อ  อย่างที่เห็นในกระดูกงอก 

           กระดูกงอกจึงเป็นผลอย่างหนึ่งของข้อเสื่อมจะถูกต้องกว่า  คำว่ากระดูกงอกอาจหมายถึงอย่าง เช่นก้อนทูม หรือมะเร็งก็ได้ "

พิทย์  : " งั้นขอทราบข้อเสื่อมเป็ฯเพราะใช้งานมากไปหรือ "

แพทย์ : " ก็ไม่ใช่อีก  เพราะกรรมกรแบกกระสอบข้าว  นักวิ่งมาราธอน  ที่ไม่มีข้อเสื่อมมีเยอะไป ถ้าถามว่า    

              เพราะแก่แล้วจึงเสื่อม   ก็ไม่เชิง  เพราะคนอายุ แปดสิบ-เก้าสิบที่ยังใช้ข้อได้ดี  ก็มีไม่น้อย " 

พิทย์  : " อ้าว  แล้วอยู่ดี ๆ ข้อเสื่อมอย่างภรรยาผมได้ไง "

แพทย์ : " ได้ครับ  แต่ถ้าอธิบายกันไปมา มันจะยาว  ผมจะให้เอกสารฉบับย่อไปอ่านที่บ้านดีกว่า   ขอคุณพยาบาลช่วยจัดให้ด้วย "

 

              เอกสาร    แพทย์เรื่อง  " ข้อเสื่อม "

 

             จริงอยู่  ข้อเสื่อมอาจเป็นผลจากการบาดเจ็บหรือการเป็นโรคที่ข้อนั้น ๆ มาก่อน ทำให้มีการผิดรูป  เพราะกระดูกถูกทำลาย  แต่ข้อเสื่อมในคนที่ไม่มีสาเหตุดังกล่าวนำมาก่อนนั้น  เกิดจากความไม่สมดุลของกล้ามเนื้อที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของข้อนั้น ๆ เป็นสำคัญ

            กล้ามเนื้อควบคุมการเคลื่อนไหมของข้อแบ่งเป็นสองพวก คือ  พวกทำ ( Agonist )   และพวกต้าน  ( Antagonist )  ขณะที่สมองสั่งให้ข้อเคลื่อนไหวอย่างใด อย่างหนึ่ง  คำสั่งจะส่งตรงถึงกล้ามเนื้อพวกทำให้หดตัว  แต่ในทันใดนั้นจะมีคำสั่งจากระบบประสาทอัตโนมัติ บอกให้กล้ามเนื้อพวกต้านให้คลายตัว   จึงเกิดการเคลื่อนไหวในแบบที่ต้องการอย่างราบรื่น  ดูเสมือนว่าข้อนั้นลื่นดี   ลองคิดดูว่า ถ้ากล้ามเนื้อพวกต้านไม่ยอมคลายตัว  จะเกิดอะไรขึ้น  แน่ละ  ข้อนั้นจะมีอาการกระดูกไม่เป็นส่ำ  ไม่ต่างกับการเมืองที่ฝ่ายค้านไม่ลงรอยกับฝ่ายรัฐบาล  บังเอิญนี่เป็นเอกสารการแพทย์จึงไม่มีคำวิจารณ์  ( No comment )

         อย่างไรก็ดี การคลายตัวของกล้ามเนื้อพวกต้าน ก็ไม่ได้เป็นไปแบบไม่มีเงื่อนไข  หาไม่แล้วก็จะเกิดอันตรายแก่ข้อนั้น ๆ อย่างแน่นอน  เช่นถึงกับข้อหลุด ข้อเคลื่อน  หรือข้อแพลงก็เป็นได้  ถ้าเปรียบกับการเมืองก็ว่าไม่เป็นประชาธิปไตย  กลับกลายเป็นเผด็จการ  บังเอิญนีเป็นเอกสารการแพทย์จึงไม่มีคำวิจารณ์

         สมมุติคุณจะเตะฟุตบอล  คุณง้างข้อเข่าและข้อเท้ามาทางหลัง   แล้วสะบัดไปทางหน้าเต็มแรง  คุณกำลังใช้กล้ามเนื้อพวกทำที่อยู่ด้านหน้าขา  และหน้าแข้ง ขณะที่กล้ามเนื้อพวกต้านที่อยู่หลังต้นขา  และกล้ามเนื้อน่องคลายตัวยอมให้คุณเตะฟุตบอลถูกพร้อมกับส่งขาตามลูกไป  แต่ถ้าบังเอิญเจ้ากรรมที่กล้ามเนื้อพวกต้านหย่อนยานเกินเหตุแล้วไซร้ตามทฤษฏี  ขาคุณอาจขาดหลุดลอยตามบอลเข้าโกลไปด้วย  หรืออย่างเบาะๆ เข่าคุณอาจแอ่นระเนน  หรือแม้กระดกพับมาข้างหลัง อันเป็นเรื่องผิดธรรมชาติ  ซึ่งเป็นภาวะที่ผิดหลักการ  " ชีวจิต " อย่างยิ่ง

         ในชีวิตจริงคนส่วนใหญ่ไม่เตะฟุตบอล  ไม่ปั่นจักรยาน  ไม่ขึ้นบันได ไม่ปีนภูเขา  เพียงแต่เดินตามพื้นราบธรรมดาเปนประจำ เป็นเหตุให้กล้ามเนื้อหลังต้นขา  ( Hamstrings )  แข็งแรงโตใหญ่  ลองคลำดูเดี๋ยวนี้ยังได้  แต่ตรงกันข้าม  กล้ามเนื้อชุดหน้าต้นขา ( Quadriceps ) ไม่ใคร่แข็งแรง  ไม่ใคร่โตใหญ่  เป็นเหตุสำคัญที่ทำให้ข้อเข่าเสื่อมเร็วกว่าที่ควรจะเป็น  ยิ่งไปทำงานหักโหม หรือซ้ำร้ายผิดท่าด้วย  ก็จะยิ่งทำให้ข้อเข่าเสื่อมเร็วใหญ่

          การเปลี่ยนแปลงเมื่อข้อเสื่อมอย่างแรกคือ  กระดูกอ่อนผิวข้อสึกบางไปเรื่อย ๆ เพียงแค่กล้ามเนื้อพวกทำ กับพวกต้านมีความแข็งแรงไม่เท่ากัน  ซ้ำร้ายถ้าทำงานที่ทำเป็นประจำต้องนั่งยองๆ   หรือนั่งพับเพียบเป็นเวลานาน  ผิวข้อจะมีการกรดกันอยู่นาน และกดแรงไม่เฉี่ยกระจายทั่วพื้นผิว  ข้อเข่าจะบิด  หรือคด  หรือเข่าอ่อน  หรือเหยียดไม่ออก  หรือเข่าหลวม  จับขยับโยกได้ทางข้างและทางหน้า-หลัง  เป็นต้น  ถึงตอนนั้น แสดงว่าเอ็นคุมข้อ  ( Ligaments ) หย่อนเทิบทาบไปแล้ว ทำให้ข้อเข่าไม่มั่นคง ( Unstable )   เข่านั้นจะเสื่อมรวดเร็วมากขึ้นอีกเท่าตัว

         อาการของข้อเสื่อมคือ  เจ็บและผืดถ้าเป็นกับข้อเข่าที่รับน้ำหนักมากจะเจ็บมาก  เพราะกระดูกอ่อนนั้นธรรมชาติสร้างไว้ไม่ให้มีเส้นเลือดและเส้นประสาทมาเลี้ยง  เพราะต้องการความเรียบลื่น  จึงไม่ความรู้สึกเจ็บ แต่เมื่อกระดูกแข็งโผล่ทำให้เจ็บมากเหมือนอาการเสียวฟันเมื่อเคลือบฟัน  ( Enamel ) สึก  ส่วนอาการข้อผืดนั้นเป็นเพราะผิวข้อไม่เรียบลื่นอย่างหนึ่ง  และอีกอย่างหนึ่งเป็นเพราะกล้ามเนื้อที่ขยับเคลื่อนไหวข้อขาดความสมดุล

        การที่กระดูกอ่อนผิข้อสึกบางไป ทำให้ร่างกายสร้างหินปูนเข้ามาพอกรอบๆ ข้อ  โดยการปฏิกิริยาการอักเสบ ด้วยความหวังจะเสริมความแข็งแรง  แต่ความจริงทำให้ข้อแข็งมากกว่าแข็งแรง   และการเคลื่อนไหวข้อยิ่งทำได้ยากและมีขีดจำกัดมากขึ้น

        การรักษาข้อเสื่อมไม่ไดผลดีเท่าการป้องกัน  การรักษามีการพันข้อที่หลวมให้กระชับ  มีกายภาพบำบัดด้วยความร้อนประคบ  การออกกำลังกล้ามเนื้อให้สมดุล การนวดกล้ามเนื้อช่วยคลายอาการเกร็งได้  การใช้ยาแก้ปวดและยาแก้อักเสบเป็นพัก ๆ ทั้งแบบกินแบบฉีดเข้ากล้าม  และแบบฉีดเข้าช่องข้อโดยตรง  ล้วนเป็นการรักษาตามอาการ  หรือการรักษาปลายทาง  ขณะที่ยาแก้ข้อเสื่อมโดยตรงยังไม่มี  มีการค้นคว้าหาสารออกฤทธิ์ที่ช่วยพยุงกระดูกอ่อนผิวข้อกันอยู่บ้าง  แต่ยังไม่ได้ผลดีนัก  ระยะท้ายมีการผ่าตัดตกแต่งข้อและการใส่ข้ออะไหล่ หรือข้อปลอมให้เช่นเดียวกับฟันปลอมเท่านั้นเอง

        การป้องกันข้อเสื่อม  ใช้หลักการว่าสาเหตุข้อเสื่อมโยงใยไปถึงกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อรอบข้อด้วย  ดังนั้นข้อต่าง ๆ ของร่างกายจะใช้งานได้ดี ต้องมีปัจจัยสองอย่าง  คือ 1. ข้อต้องลื่น 2. ก้ามเนื้อต้องแข็งแรงและสมดุลทั้งพวกทำและพวกต้าน

        การทำให้ข้อลื่น   ใช้วิธีออกกำลังกายด้วยท่ากายบริหารโดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์ช่วย  เพื่อมุ่งหวังให้ข้อคุ้นชินกับการเคลื่อนไหวตลอดพิสัยหรือขอบขีดความสามารถ ( Range of Motion ) ของข้อนั้น ๆ เช่นข้อไหล่มีพิสัยการเคลื่อนไหวขึ้นเหนือศรีษะเป็นธรรมดา  แต่ถ้าผู้ใดขาดการยกแขนเป็นประจำ  ไม่ช้าก็ยกไม่ขึ้น เพราะเอ็นติด  ถ้าวันหนึ่งเผลอไปทำเข้า วันรุ่งขึ้น อาจเกิดเอ็นอักเสบ ระบม  แล้วมีหินปูนพอกเอ็นตามธรรมชาติ  ทำให้ข้อไหล่เสื่อม

       การทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรงและสมดุล  ต้องฝึกทำกายบริหารแบบเกร็งกล้ามเนื้อนิ่งๆ  ( Isomatric  Exercise ) เป็นประจำ  เช่น    ข้อเข่าที่มักมีกล้ามเนื้อหน้าต้นขาอ่อนกำลัง     ขณะที่กล้ามเนื้อหลังต้นขาใหญ่โตแข็งแรง ( เพราะคนส่วนมาใช้ชีวิตเดินบนพื้นราบ )จะต้องเพ่งเล็งการออกกำลังแบบต้านน้ำหนัก ( Weight Training ) โดยการขึ้นบันไดบ้าง  วิ่งขึ้นเขาบ้าง  ถีบจักรยานบ้าง  หรือจะฝึกต้านน้ำหนักในโรงยิมเป็นพิเศษก็ได้

       อนึ่ง  กล้ามเนื้อจะแข็งแรงมีสภาพดีต้องมีการบำรุงด้วยอาหารโปรตีน หรือกรดแอมิโน  ( จากพืชก็ได้ )  เพื่อซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ  ต้องได้คาร์โบไฮเดรทเพื่อเป็นพลังงาน  ได้วิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็นเช่นเดียวกับเนื้อเยื่ออื่น ๆ ของร่างกายสำหรับกล้ามเนื้อ  ฮอร์โมนเพศชาย  ( ธรรมดา )  และสเตียรอยด์ ( สังเคราะห์)  บางชนิดก็มีส่วนเสริมก้ามเนื้อให้ใหญ่โตได้  แต่อย่างหลังมีอันตรายมากจากฤทธิ์ข้างเคียง

   สรุป

     1. ข้อเสื่อมเพราะขาดการใช้งานที่ถูกท่าถูกวิธีและทุกทาง (ไม่ทำอย่างเดียวจำเจ )

    2. ข้อเสื่อมป้องกันได้แน่นอน พันธุกรรมมีส่วนบ้างแต่น้อย

 

ทิพย์และเพียรกลับมาพบแพทย์คนเดิมอีกครั้ง

ทิพย ์ :      " อยากทราบว่าความอ้วนเป็นเหตุให้ข้อเสื่อมจริงไหม "

แพทย์:      " จริงแต่มีข้อแม้ว่า  ตัวโตขึ้น  หนักขึ้น แต่กล้ามเนื้อไม่โตและไม่แข็งแรงตามไปด้วยเท่านั้น 

                   ข้อเข่าจึงเสื่อม     นักกีฬาบางชนิดตัวใหญ่  แต่ข้อเข่าไม่เสื่อม เพราะเขาฝึกกล้ามเนื้อกันเป็นประจำ "

ทิพย ์ :         " งานหนักเกินไปทำให้ข้อเสื่อมเร็ว  อายุมากขึ้นข้อก็เสื่อมตามไปใช่ไหม "

แพทย์:         " บอกแล้วไงไม่ใช่สาเหตุโดยตรง  ที่ภรรยาคุณเขาเจ็บเข่า  ไม่ใช่เพราะทำงานหนักหรือผิดท่า  

                     แต่อาจเป็นได้ว่าทำงานจำเจเป็นอยู่อย่างเดียว  เป็นเหตุให้กล้ามเนื้อหน้าต้นขาอ่อนกำลังไปหน่อยเดียวเอง "

 

ทิพย ์ :          ( พูดกับภรรยา )  " ถ้างั้นพรุ่งนี้เราไปหาจักรยานภูเขามาถีบเล่นกันนะน้องจ๋า "

 

( จากนิตยสาร ชีวจิต  โดย..ธันย์ โสภาคย์  )

 

พัฒนาการวิ่งให้เร็วขึ้น

เป็นลมหรือบ๊องวิ่งชนกำแพง

บาดเจ็บจากการวิ่งแข่งขันวิ่งระยะไกลและมาราธอน

เครื่องดื่มเกลือแร่ น้ำเกลือแร่ และน้ำอัดลม