ปัญหาโลกแตกกับการลดความอ้วน

ทุกวันนี้หมอยังเจอคนไข้มาบ่นให้ฟังบ่อย ๆ เรื่องของน้ำหนักตัว ยิ่งอายุมากขึ้นหรือยิ่งเฉียดใกล้วัยทองเท่าไร น้ำหนักตัวก็ยิ่งพุ่งพรวดอย่างไม่หยุดยั้ง แม้จะทำตามสารพัดตำราที่มี รับประทานอาหารไขมันต่ำก็แล้ว เลือกรับประทานอาหารที่มีแป้งและน้ำตาลต่ำตามสูตร Atkin ก็แล้ว ออกกำลังกายก็แล้วน้ำหนักตัวก็ยังไม่ค่อยจะยอมลดสักที

บางคนบ่นว่ายิ่งออกกำลังกายมากก็ยิ่งหิวจัด รับประทานมากขึ้น น้ำหนักตัวก็เพิ่มมากขึ้น

แน่นอนว่าหลังการออกกำลังกาย ร่างกายเราจะดึงน้ำตาลในเลือดมาใช้เป็นอันดับแรก แล้วจึงดึงไกลโคเจนแหล่งพลังงานที่สะสมอยู่ในตับและกล้ามเนื้อมาเผาผลาญเป็นพลังงาน ท้ายสุดเมื่อออกกำลังกายต่อเนื่องกันนานกว่า 15-20 นาที จึงจะดึงไขมันที่สะสมเอาไว้มาใช้ หลังออกกำลังกายร่างกายก็จะอยู่ในภาวะสูญเสียพลังงานไปมาก ย่อมมีการกระตุ้นให้ศูนย์ควบคุมความหิวความอยากในสมองทำงานเพิ่มขึ้น หลายต่อหลายครั้งที่ออกกำลังกายเสร็จใหม่ ๆ จะรู้สึกหิวจัด เพราะร่างกายต้องการพลังงานเข้าไปทดแทน หากเลือกอาหารที่จะรับประทานสักนิดหนึ่ง ก็ไม่ได้แปลว่าน้ำหนักตัวจะเพิ่มขึ้น หลังออกกำลังกายเสร็จใหม่ ๆ อาหารที่ควรรับประทานทันทีได้แก่ อาหารจำพวกแป้ง ซึ่งจะถูกเปลี่ยนไปเป็นน้ำตาลในเลือดไปเลี้ยงสมองและกล้ามเนื้อทันทีส่วนหนึ่ง ที่เหลือจะถูกเปลี่ยนเป็นไกลโคเจน สะสมอยู่ในตับและกล้ามเนื้อ ควรหลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง อาจจะเลือกรับประทานกล้วยหอมผลย่อม ๆ หลังออกกำลังกายเสร็จแค่นี้ก็อิ่มท้อง ได้พลังงานและไม่อ้วน

แต่ถ้าออกกำลังกายต่อเนื่องกันมาสักระยะหนึ่งแล้ว พบว่าน้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้นอันนี้อาจจะเป็นข่าวดี เพราะการออกกำลังกายได้ใช้กล้ามเนื้อ จึงมีการเสริมสร้างกล้ามเนื้อใหม่ให้กับร่างกาย น้ำหนักตัวจึงขึ้นตามไปด้วย เนื่องจากกล้ามเนื้อหนักกว่าไขมัน ยกตัวอย่าง ผู้หญิงที่มีน้ำหนัก 55 กิโลกรัม แต่ไม่เคยออกกำลังกายเลย มีแต่ไขมันพอกอยู่รอบบั้นเอว ก็คงจะดูตัวอวบอ้วน และใส่เสื้อผ้าขนาดใหญ่กว่าแน่นอน ผู้เชี่ยวชาญถึงแนะนำว่า ทางที่ดีควรออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ เพื่อให้เกิดความฟิต ความเฟิร์มของกล้ามเนื้อ

แต่ถ้าออกกำลังกายแล้วน้ำหนักเพิ่มแถมเสื้อผ้าก็ยังฟิตปั๋ง แน่นเปรี๊ยะ คับติ้วไปหมด คงต้องมาพิจารณาอย่างซื่อสัตย์แหล่ะค่ะว่าคุณออกกำลังกายมากพอจริงหรือเปล่า ควบคุมอาหารได้ดีจริงหรือเปล่า

มีงานวิจัยว่า ถ้าในแต่ละวัน คุณพักผ่อนด้วยการนั่งเฉย ๆ ดูทีวีวันละสัก 2 ชั่วโมง คุณจะเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วนเพิ่มมากขึ้นถึง 23%

บางคนก็บ่นว่าปฏิบัติตามสูตรอาหารลดความอ้วนทุกประการ พยายามหลีกเลี่ยงไขมันทุกชนิด กล้วยแขก โรตี ของมันของทอดไม่กินเลย แล้วทำไมน้ำหนักตัวถึงไม่ยอมลดลงมาอีก ข้อนี้อธิบายได้ด้วยทฤษฎี Atkin Diet สูตรอาหารลดความอ้วนของ Dr.Atkin ซึ่งไม่ห้ามรับประทานไขมันและโปรตีนเลย แต่ให้หลีกเลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาล แป้ง หรือคาร์โบไฮเดรตทุกชนิด สัปดาห์แรกให้กินคาร์โบไฮเดรตได้ไม่เกินวันละ 60 แคลอรี่ หรือ 15 กรัม เทียบเท่าขนมปังแซนวิช 1 แผ่น ข้าวสวยไม่ถึงครึ่งถ้วย น้ำส้มคั้น 2 ออนซ์ หรือแอปเปิ้ล 1 ผลเท่านั้น ซึ่งน้อยมาก แต่น้ำหนักตัวจะลดลงอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ก็เพราะว่า อาหารที่มีโปรตีนและไขมันนั้นจะช่วยให้เราอิ่มอยู่ท้องได้นานกว่า ไม่ค่อยแอบไปรับประทานจุกจิก ไม่เหมือนพวกแป้งและน้ำตาล ที่เข้าปากปุ๊ปย่อยสลายปั๊ป รู้สึกหวานจับจิตใจเลยทันใด แต่สักพักหนึ่งน้ำตาลในเลือดก็จะหมดไป ทำให้เราหิวใหม่ได้เร็วในเวลาเพียงแค่ไม่กี่ชั่วโมง ก็เลยต้องหาของกินเข้าไปอีก น้ำหนักตัวก็เลยเพิ่มขึ้นเพราะกินมากขึ้นนี่เอง

ในขณะเดียวกันก็มีงานวิจัยโดยใช้อาสาสมัคร 100 คน พบว่ากลุ่มที่ให้รับประทานอาหาร Low Fat Diet แทบจะไม่มีไขมันเลยหรือกินไขมันอย่างมากวันหนึ่งไม่เกิน 20% กลุ่มนี้เมื่อจบโครงการวิจัย พบว่ามีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นมากถึง 6 ปอนด์ ในขณะที่กลุ่มคนไข้ที่ให้รับประทานอาหารที่มีไขมันปานกลางคือประมาณ 35% ของพลังงานอาหารในแต่ละวันนั้น กลับลดน้ำหนักได้ถึง 10 ปอนด์ คงเป็นเพราะว่าอาหารที่มีไขมันนั้น แม้ว่าจะมีพลังงานโดยรวมสูง แต่ความที่กินไปเพียงแค่นิดเดียวก็รู้สึกอิ่มแล้ว ก็เลยได้รับพลังงานไม่มากเท่าที่คาดคิด แถมยังมีการเก็บข้อมูลตั้งแต่ยุคสมัย 10 ปีที่ผ่านมาที่มีอาหาร Low Fat หรือ Fat Free ทั้งคุกกี้ ทั้งขนมขบเคี้ยวที่ปราศจากไขมันนั้น กลับทำให้ผู้บริโภครับประทานปริมาณมากขึ้น ได้รับพลังงานอาหารโดยรวมเพิ่มขึ้น ก็เลยกลายเป็นโรคอ้วนมากขึ้นด้วย อย่างไรก็ตามถ้าจะเลือกรับประทานอาหารที่มีไขมันล่ะก็ ควรเลือกไขมันที่ไม่อิ่มตัว เช่น ไขมันจำพวกถั่วต่าง ๆ น้ำมันมะกอก น้ำมันจากเมล็ดดอกทานตะวัน ซึ่งจะช่วยให้อิ่มอยู่ท้อง ไม่ทำให้หลอดเลือดอุดตัน และมีประโยชน์ต่อสุขภาพ

 

 

บทความจากอลัมน์...ใจสบายกายงาม
โดย...
แพทย์หญิงพักตร์ ทวีสิน
สกุลไทย ปีที่ 50 ฉ.2610 26 ตค.2547