เอ็นร้อยหวาย-พังผืดฝ่าเท้าอักเสบ

 

คำถามจาก คุณเสฏฐวุฒิ ก้อนใส ถามมาว่า

"ผมมีปัญหาอยากจะขอคำปรึกษาคือ ผมเป็นนักวิ่งของมหาวิทยาลัย และเป็นตัวแทนจังหวัด วิ่งระยะ 5,000 เมตร 10,000 เมตร บางครั้งก็วิ่งมินิมาราธอน แล้วมีอาการบาดเจ็บบริเวณส้นเท้า ส่วนที่เป็นเอ็นร้อยหวาย หลังจากวิ่งมินิมาราธอนประมาณเดือนมีนาคม 2548 ผมหยุดวิ่งประมาณ 2 เดือน อาการก็ไม่ดีขึ้น จึงไปหาหมอที่โรงพยาบาล หมอได้ทำการรักษาด้วยวิธีการฉีดยา หลังจากนั้นอาการบาดเจ็บก็ดีขึ้นเรื่อยๆ จนสามารถซ้อมวิ่งได้ตามปกติ ต่อมาประมาณ 4 เดือนรู้สึกเจ็บบริเวณส้นเท้าอีก และเป็นช่วงใกล้แข่งกีฬามหาวิทยาลัย ผมจึงกลับไปฉีดยาอีกครั้ง อาการบาดเจ็บก็หายมาโดยตลอด

"จนมาถึงเดือนเมษายน 2549 อาการบาดเจ็บก็กลับมาอีก แต่ผมไม่อยากรักษาด้วยการฉีดยาอีก เพราะมีอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยบอกว่ายาที่ฉีดมีส่วนผสมของสารสเตียรอยด์ ถ้าฉีดบ่อยจะเป็นอันตราย ทำให้เอ็นเปื่อยและขาดได้ ตอนนี้ผมทุกข์ใจมากๆ ไม่รู้จะรักษาอย่างไร ผมหยุดวิ่งมา 1 เดือนเต็มๆ แล้ว ไปทำกายภาพบำบัด แล้วเวทเทรนนิ่ง กินยา อาการก็ยังไม่หายจะเจ็บเอ็นร้อยหวายมากในช่วงตอนเช้า หลังจากที่ฝึกซ้อมตอนเย็น แต่เวลายืดกล้ามเนื้อและเอ็นร้อยหวายจะไม่เกิดอาการเจ็บ จะเจ็บเวลาวิ่ง ผมจะต้องรักษาอาการบาดเจ็บด้วยวีธีใด นอกจากการฉีดยา และผมจะต้องปฏิบัติตนอย่างไรในการรักษา รบกวนอาจารย์หมอช่วยให้คำแนะนำด้วยครับ"

ผมขอเชิญ อจ.นพ.พิสิฏฐ์ เลิศวานิช แพทย์ประจำสาขาเวชศาสตร์การกีฬา ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ตอบดังนี้ครับ

จากคำถามของคุณเสฏฐวุฒิ ก็เป็นประเด็นที่น่าสนใจที่พบได้บ่อยคือ ภาวะ เอ็นร้อยหวายอักเสบ ร่วมกับพังผืดฝ่าเท้าอักเสบ (บางท่านจะเรียกว่า "รองช้ำ") จากประวัติที่เป็นนักวิ่งระยะไกลถือเป็นความเสี่ยงที่สำคัญ ต่อทั้งสองภาวะซึ่งเป็นลักษณะการบาดเจ็บจากการใช้งานมากเกินไป (overuse injury)

ในส่วนของการรักษาซึ่งได้ทำไปแล้วไม่ว่าจะเป็นการรับประทานยา หรือยืดเหยียดกล้ามเนื้อก็เป็นสิ่งที่เหมาะสมอยู่แล้ว การฉีดยาสเตียรอยด์ก็เป็นส่วนหนึ่งของการรักษาพังผืดฝ่าเท้าอักเสบ แต่สำหรับเอ็นร้อยหวายอักเสบนั้น ไม่ควรรักษาด้วยการฉีดยาสเตียรอยด์ เพราะจะทำให้เส้นเอ็นเสียความแข็งแรงและอาจฉีกขาดได้

การรักษาการบาดเจ็บจากการใช้งานมาก นอกเหนือจากการใช้ยาแล้ว ยังต้องเสริมด้วยการใส่ใจในส่วนประกอบอื่นซึ่งอาจละเลยไป เช่น ควรเลือกรองเท้าให้มีพื้นที่นุ่มเท้า รับแรงกระแทกได้ดี อาจเสริมพื้นรองเท้าบริเวณส้นเท้าเพื่อลดความตึงของเอ็นร้อยหวาย ในรายที่ฝ่าเท้าแบนอาจเสริมอุ้งเท้าด้วย

สำหรับพื้นลู่วิ่งนั้น ควรหลีกเลี่ยงการวิ่งระยะไกลบนพื้นคอนกรีต เพราะจะมีแรงกระแทกสูงกว่าพื้นยางมะตอยหรือลู่วิ่งแบบยางสังเคราะห์

ในนักกีฬาการรักษาความฟิตก็เป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะหากไม่ได้ใช้งานนานๆ ร่างกายก็จะมีความฟิตน้อยลง ในระหว่างการรักษาอาจใช้การออกกำลังกายซึ่งไม่มีแรงกระแทกต่อฝ่าเท้าแทน เช่น การว่ายน้ำ การปั่นจักรยาน เป็นต้น เพื่อรักษาความฟิตของร่างกาย โดยไม่กระทบต่อส่วนที่ได้รับการบาดเจ็บ

หวังว่าคงพอเข้าใจนะครับ ถ้ามีข้อสงสัยหรือคำถามประการใดเกี่ยวกับการออกกำลังกายหรือเล่นกีฬา กรุณาส่งไปที่สาขาเวชศาสตร์การกีฬา ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์ฯ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล หรือ Email address sisportsmed@hotmail.com สวัสดีครับ

 

หมายเหตุจาก นสพ.มติชน

คอลัมน์ หมอสนาม

นพ.ธีรวัฒน์ กุลทนันทน์ และคณะ
 

วันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2549 ปีที่ 29 ฉบับที่ 10391