แพทย์หญิงจิตรา   วงศ์วิวัฒนานนท์
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู

 

ปัจจุบันคนไทยมีวิถีชีวิตที่ต้องเร่งรีบขึ้น เครียดมากขึ้น ทั้งปัญหาเศรษฐกิจ จราจร ครอบครัว ไม่มีเวลาพักผ่อนอย่างเพียงพอ ไม่มีเวลาออกกำลังกาย และพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่เปลี่ยนแปลง ประเภทของอาหารเหมือนชาวตะวันตก มีไขมันสูง ทำให้เป็นสาเหตุของหลอดเลือดหัวใจตีบ มีหลักฐานการวิจัยทางการแพทย์รายงานว่า การออกกำลังกายช่วยป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้ และผู้ป่วยที่เป็นแล้วการออกกำลังกายยังช่วยลดอัตราการตายจากการเป็นซ้ำของโรคได้ถึง 25 % ในช่วงเวลา 1-3 ปี นอกจากนี้ยังทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้นด้วย

 

ทำไมผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบจึงควรออกกำลังกาย

ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบจะมีสมรรถนะ (Fitness) ของร่างกายลดลง เพราะผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบจะมีอัตราการเต้นของหัวใจสูงขึ้น และการบีบตัวให้เลือดออกจากหัวใจแต่ละครั้งได้ปริมาณน้อยลง ทำให้ปริมาณเลือดที่หัวใจส่งไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ลดลง เป็นผลให้ปริมาณออกซิเจนสูงสุดที่ร่างกายสามารถนำไปใช้ (VO2 max) ซึ่งเป็นตัวบ่งบอกสมรรถภาพของร่างกายลดลงด้วย

ในคนป่วยปกติถ้านอนนาน 3 สัปดาห์ ค่า VO2 max อาจลดลงถึง 25 % ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบสามารถเพิ่ม VO2 max ได้ประมาณ 20 % หลังจากฝึกออกกำลังกายนาน 3 เดือน

 

ประโยชน์ของการออกกำลังกายในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

1.    ป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากการนอน

2.    เพิ่มสมรรถภาพการทำงานของร่างกาย

3.    เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจ

4.    เพิ่มการไหลเวียนของเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ

5.    ลดปัจจัยเสี่ยงที่เป็นสาเหตุของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ได้แก่ ลดน้ำหนัก ลดไขมัน ลดความดันโลหิต

6.    ลดอัตราการตายจากการเป็นซ้ำของโรค

7.    ส่งเสริมสุขภาพจิต ลดอาการเครียด ซึมเศร้า เพิ่มคุณภาพชีวิต

 

การออกกำลังกายในผู้ป่วยโรคหัวใจ

ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ควรปรึกษาแพทย์ผู้ให้การรักษาก่อนจะไปออกกำลังกายเอง ผู้ป่วยอายุเกิน 40 ปี ที่ไม่เคยออกกำลังกายสม่ำเสมอ ที่คิดจะเริ่มออกกำลังกายควรไปตรวจร่างกายประจำปีบ้างว่ามีโรคหัวใจหรือไม่ เพราะบางรายไป ออกกำลังกายหักโหมจนเป็นลมฟุบไป โดยไม่ทราบว่าตัวเองเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีน้ำหนักมาก สูบบุหรี่ มีประวัติไขมันในเลือดสูง ระดับโคเลสเตอรอล 240 มก/เดซิลิตร ความดันโลหิตสูง เบาหวาน พ่อ แม่ พี่ หรือ น้อง เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบก่อนอายุ 55 ปี

 

โปรแกรมการออกกำลังกาย

1.  การอบอุ่นร่างกาย (Warm up) เพื่อเตรียมร่างกายให้ระบบกล้ามเนื้อ ข้อต่อ และระบบไหลเวียน พร้อมก่อนออกกำลังกาย เพื่อป้องกันการเกิดภาวะหัวใจขาดเลือด และบาดเจ็บกล้ามเนื้อ ข้อต่อ โดยการยืดกล้ามเนื้อ เริ่มออกกำลังกายเบา ๆ ทำประมาณ 5-10 นาที

2.  การออกกำลังกายแบบแอโรบิค เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ออกซิเจนของร่างกาย ต้องเป็นการออกกำลังกายแบบเคลื่อนไหว โดยเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อกลุ่มใหญ่ของแขน ลำตัว เป็นจังหวะอย่างต่อเนื่อง ด้วยความหนัก และเวลาที่มากพอที่จะกระตุ้นให้มีการปรับตัวเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจ และระบบไหลเวียนเลือด

การออกกำลังกายที่เหมาะสมคือ การเดิน เพราะทำได้ง่าย ปลอดภัย ได้ผลดี เดินด้วยความเร็วปานกลางให้เหนื่อยเล็กน้อย จับชีพจรตัวเองให้ได้ช่วงชีพจรที่เหมาะสมประมาณ 60-85 เปอร์เซ็นต์ ของอัตราการเต้นหัวใจสูงสุดที่ได้จากการทดสอบ โดยการออกกำลังกายหรือใช้ค่าประมาณ 20-25 ครั้ง/นาที เพิ่มจากอัตราการเต้นหัวใจขณะพักเมื่อเดินได้ 10 นาที ค่อย ๆ เพิ่มเวลา เช่น เพิ่ม 5 นาทีทุกสัปดาห์ จนสามารถเดินได้ 20-30 นาที จากนั้นจึงค่อย ๆ เพิ่มความเร็วของการเดิน ถ้าเหนื่อยมากหรือมีการเจ็บหน้าอก หรือได้อัตราการเต้นหัวใจสูงกว่าอัตราการเต้นหัวใจที่เหมาะสม ควรหยุด ตัวอย่างเช่น ถ้าทดสอบการออกกำลังกาย (Stress test) ได้อัตราการเต้นหัวใจสูงสุดประมาณ 160 ครั้ง (ในบุคคลปกติอัตราการเต้นหัวใจสูงสุดประมาณ 220-อายุ) อัตราการเต้นหัวใจที่เหมาะสมขณะออกกำลังกายประมาณ 60-85 เปอร์เซ็นต์ เท่ากับ 96-136 ครั้ง ความถี่ของการออกกำลังกายประมาณ 3-5 ครั้งต่อสัปดาห์

3.  การออกกำลังกายเบา ๆ หลังการออกกำลังกาย (Cool down) มีความสำคัญในการป้องกันภาวะความดันเลือดตกหลังออกกำลัง ช่วยเร่งการฟื้นตัวของกล้ามเนื้อ และระบบไหลเวียนเลือด การหยุดออกกำลังทันทีจะทำให้เลือดที่ไหลกลับหัวใจลดลงทันที ลดปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้เกิดอาการเจ็บหน้าอกได้ หลังจากเดินทุกครั้งไม่ให้หยุดทันที ต้องเดินช้า ๆ ต่ออีก 5-10 นาทีเสมอ

นอกจากการเดินอาจใช้วิ่งบนสายพาน หรือปั่นจักรยานอยู่กับที่ เต้นแอโรบิค ในคนสูงอายุที่มีปัญหาข้อเข่าควรปรับอานจักรยานให้พอเหมาะ คนไข้ที่มีปัญหาโรคข้ออาจใช้วิธีว่ายน้ำ

 

ข้อควรระวัง

ไม่ควรเบ่งหรือออกแรงเกร็ง ไม่กลั้นหายใจระหว่างออกกำลังกาย หลีกเลี่ยงการกำมือแน่น ๆ และการนอนออกกำลังกาย

นอกจากการออกกำลังกายที่เหมาะสมแล้วควรปฏิบัติตนให้ถูกต้อง รู้จักประเมินระดับความเหนื่อย และการจับชีพจรตัวเอง รู้จักอาการแสดงที่บ่งถึงภาวะผิดปกติจากการออกกำลังกายเกินขนาด เช่น เจ็บหน้าอก มึนงง เซ คลื่นไส้ เมื่อท่านสามารถออกกำลังกายได้อย่างสม่ำเสมอ อัตราการเต้นหัวใจขณะพักค่อย ๆ ลดลง และประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจจะดีขึ้น และสมรรถภาพของร่างกายของท่านจะดีขึ้นด้วย

 


ที่มา...วารสารโรงพยาบาลรามคำแหง ปีที่3 ฉบับที่ 11