ก่อนที่จะเขียนเรื่องผู้สูงอายุกับการออกกำลังกาย
ผู้เขียนใคร่ขอสรุปประโยชน์ของการออกกำลังกายคร่าวๆ
อีกสักครั้งหนึ่งก่อน กล่าวคือ
การออกกำลังกายมีประโยชน์ต่อระบบการไหลเวียนโลหิต เช่น
ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจโตขึ้น แข็งแรงขึ้น
ผนังหลอดเลือดมีความยืดหยุ่นมากขึ้น
ความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใขณะพักลดลง ที่สำคัญคือ
ช่วยให้โลหิตไหลเวียนไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ดีขึ้น
นอกจากนั้นยังช่วยให้ประสิทธิภาพการทำงานของปอดดีขึ้น
ความทรงจำดีขึ้น สมองปลอดโปร่ง
มีการไหลเวียนของโลหิตไปสู่สมองดีขึ้น การออกกำลังกายบ่อยๆ
ยังช่วยทำให้ร่างกายหลั่งสารเอนโดรฟินจากต่อมใต้สมองออกมา
ซึ่งสารนี้มีฤทธิ์คล้ายมอร์ฟีน คือ
ช่วยในการลดอาการเจ็บปวดเมื่อยล้า มีอารมณ์ดี
จิตใจสบายไม่เครียด และเนื่องจากการออกกำลังกาย
ทำให้ปริมาณไขมันโคเลสเตอรอลในเลือดลดลง
จึงทำให้ร่างกายลดอัตราเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและโรคอ้วน

คราวนี้มาดูกันว่าคนเรานั้น
เมื่อไรจึงจะถูกเรียกว่า ผู้สูงอายุ
นักวิชาการบางท่านกล่าวว่า ผู้สูงอายุ
หมายถึง ผู้มีอายุเกิน 60 ปี
แต่โดยสรุปนักวิชาการได้มีการแบ่งช่วงอายุของผู้สูงอายุดังนี้
คือ วัยเริ่มสูงอายุ มีอายุระหว่าง 55-64 ปี
วัยสูงอายุตอนกลางมีอายุระหว่าง 65-74 ปี
วัยสูงอายุตอนปลายมีอายุระหว่าง 75-84 ปี
และวัยสูงอายุแท้จริงมีอายุตั้งแต่ 85 ปีขึ้นไป
ส่วนองค์การอนามัยโลก
ได้แบ่งผู้สูงอายุเป็น 3 ประเภท คืออายุระหว่าง 60-70 ปี
เรียกว่า ผู้สูงอายุ อายุ 70-90 ปี เรียกว่าคนชรา ผู้มีอายุ 90
ปีขึ้นไป เรียกว่า คนชรามาก
เมื่อพิจารณาโดยสรุปแล้วผู้สูงอายุควรเป็นผู้ที่มีอายุ 60
ปีขึ้นไป ซึ่งก็ตรงกับอายุเกษียณราชการ
ของข้าราชการในเมืองไทยเรานั่นเอง
ท่านผู้อ่านใกล้หมอที่เคารพครับ
คนเราเมื่อเวลาเข้าสู่วัยสูงอายุร่างกายและระบบการทำงานของอวัยวะต่างๆ
มีการเปลี่ยนแปลงพอสมควรทีเดียว เช่น ผิวหนังที่เหี่ยวลง
ระบบประสาททำงานเสื่อมลง ตา หู คอ จมูก ก็ทำงานเสื่อมลง
ระบบการทำงานที่เกี่ยวกับการไหลเวียนโลหิตและระบบหายใจก็เสื่อมสภาพลง
มีการเปลี่ยนแปลงการทำงานของกระดูก คือ เปราะหักง่ายขึ้น
เซลล์กล้ามเนื้อมีขนาดเล็กลง ต่อมไร้ท่อต่างๆ ผลิตฮอร์โมนต่ำลง
เนื่องจากต่อมฝ่อเล็กลง อาการต่างๆ เหล่านี้
ถ้าไม่มีการยับยั้งก็จะดำเนินต่อเนื่องไปเรื่อยๆ
แต่ถ้าผู้สูงอายุหันมาใส่ใจในการรักษาดูแลร่างกายให้แข็งแรง
ด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ถูกสุขลักษณะ
และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ร่างกายก็จะแข็งแรงขึ้น
และช่วยชะลออาการต่างๆ ที่กล่าวมาให้เกิดช้าลง
และจะมีประโยชน์มากทีเดียวถ้ามีการออกกำลังกายก่อนที่จะถึงวัยผู้สูงอายุ
เพราะจะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันตั้งแต่เนิ่นๆ
โดยประโยชน์ที่เกิดขึ้น
จากการออกกำลังกายก็เป็นไปตามที่ผู้เขียนกล่าวไว้แล้วตั้งแต่ต้น
คราวนี้ถ้าสมมติว่าผู้สูงอายุต้องการออกกำลังกาย
ควรจะเริ่มต้นอย่างไร แน่นอนครับว่า
ผู้สูงอายุแต่ละคนมีวัยต่างกันมีสุขภาพกายและสมรรถภาพกายแตกต่างกัน
นอกจากนั้นผู้สูงอายุบางคน
อาจจะออกกำลังกายมาตั้งแต่วัยหนุ่มสาว ซึ่งแน่นอนว่า
ย่อมมีสุขภาพดีกว่าผู้สูงอายุที่ไม่เคยออกกำลังกายมาก่อนเลย
ดังนั้นการเริ่มออกกำลังกายของผู้สูงอายุแต่ละคนจึงไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน
อย่างไรก็ดี ขั้นตอนที่ถูกต้อง
และปลอดภัยสำหรับการเริ่มออกกำลังกายของผู้สูงอายุควรกระทำดังนี้
ก่อนการออกกำลังกายควรได้รับการตรวจสุขภาพกายทั่วไปก่อน
เพราะผู้สูงอายุอาจมีโรคภัยไข้เจ็บซ่อนเร้นอยู่
ควรได้รับการตรวจสมรรถภาพทางกายโดยเน้นการตรวจแบบระบบไหลเวียนโลหิต
ถ้าจะให้ดีควรเป็นการตรวจแบบเดินบนสายพานพร้อมมีการตรวจการทำงานของหัวใจประกอบ
ซึ่งวิธีการนี้เรียกว่า stress test นั่นเอง
การรับการตรวจสมรรถภาพกายจะทำให้ทราบสถานะตัวเองว่า
สมรรถภาพอยู่ในขั้นใด และควรจะเริ่มต้นการออกกำลังกายแบบใด
ด้วยความหนักเพียงใด อย่างไรก็ดี
ผู้สูงอายุบางท่านอาจจะรับการตรวจสมรรถภาพกายแบบพื้นฐานทั่วไปและเริ่มออกกำลังกายด้วยตนเอง
ผู้เขียนขอเสนอแนะวิธีเข้าสู่โปรแกรมการออกกำลังกายโดยคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้
1. ชนิดการออกกำลังกาย
ควรยึดถือการออกกำลังกายแบบแอโรบิกเป็นหลัก เช่น การเดินเร็ว
การวิ่งเหยาะ การขี่จักรยาน หรือการว่ายน้ำ เป็นต้น
เวลาในการออกกำลังกายควรแบ่งเป็น 3 ขั้นตอน
เหมือนโปรแกรมการออกกำลังกายทั่วไป คือ
การอบอุ่นร่างกายหรือที่เรียกว่าการวอร์มอัพ
การออกกำลังกายแบบแอโรบิกและปิดท้ายด้วยการวอร์มดาวน์
ซึ่งเป็นการออกกำลังกายแบบเบาๆ เพื่อค่อยๆ
ปรับร่างกายเข้าสู่สภาพปกติ การอบอุ่นร่างกาย ได้แก่
การออกกำลังกายด้วยท่ายืดเหยียดต่างๆ
เพื่อเพิ่มความอ่อนตัวให้แก่ข้อต่อ กระดูกต่างๆ ทั่วร่างกาย
หรืออาจจะเป็นการออกกำลังกายมือเปล่าต่างๆ
เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อกระชับขึ้น
ซึ่งในขั้นตอนนี้ใช้เวลาประมาณ 10 นาที
ส่วนในช่วงการออกกำลังกายแบบแอโรบิก ก็อาจใช้เวลาประมาณ 15-20
นาที ซึ่งในขั้นตอนนี้ก็เป็นการออกกำลังกายแบบแอโรบิก
เพื่อให้ชีพจรเต้นถึงเป้าหมายที่ต้องการนั่นเอง
ส่วนการวอร์มดาวน์ก็เป็นการออกกำลังกายเบาๆ
ก่อนที่ร่างกายจะพัก เช่น การเดินและการเหยียดยืดข้อต่อต่างๆ
นั่นเอง
2. ความหนักแน่นของการออกกำลังกาย
หมายถึง งานในการออกกำลังกายนั่นเอง เช่น
ถ้าเป็นการออกกำลังกายแบบแอโรบิก
ความหนักในการออกกำลังกายแบบแอโรบิก ได้แก่
จำนวนร้อยละของการเต้นสูงสุดของหัวใจ
โดยปกติการออกกำลังกายแบบแอโรบิกต้องฝึกอย่างน้อยร้อยละ 60
และไม่ควรเกินร้อยละ 90 ของอัตราการเต้นสูงสุดของหัวใจ
3. ความถี่ในการออกกำลังกาย
ซึ่งหมายถึงจำนวนวันในการออกกำลังกายในหนึ่งสัปดาห์
เพื่อให้ได้ผลจากการออกกำลังกายควรปฏิบัติอย่างน้อย 3
วันต่อหนึ่งสัปดาห์ และไม่ควรเกินสัปดาห์ละ 5 วัน
4. ช่วงเวลา
หมายถึงระยะเวลาที่ปฏิบัติในหนึ่งวัน
ในระยะเริ่มต้นไม่ควรนานเกินไป อาจจะปฏิบัติ 10
นาทีต่อวันไปสัก 1-2 สัปดาห์
5. การทดสอบสมรรถภาพทางกายซ้ำ
ถ้าจะให้ดีเมื่อมีการออกกำลังกายไปประมาณ 3-4 เดือน
ควรได้รับการทดสอบสมรรถภาพทางกายซ้ำ
เพื่อดูความก้าวหน้าในการออกกำลังกายและสภาพร่างกายของตนเอง
การออกกำลังกายโดยทั่วไปสำหรับผู้สูงอายุ
ไม่ควรเป็นการออกกำลังกายที่มีความต้านทาน เช่น การยกน้ำหนัก
แต่ควรเป็นการออกกำลังกายแบบแอโรบิก เช่น เดินเร็ว
วิ่งเหยาะหรือว่ายน้ำ และการเหยียดยืดร่างกาย
หรือการรำมวยจีนและโยคะ ตลอดจนการแกว่งแขนและการรำตะบอง
เป็นต้น
ถึงแม้ว่าการออกกำลังกายเป็นสิ่งที่ดีสำหรับผู้สูงอายุ
แต่ผู้สูงอายุก็ต้องระวัง ยิ่งถ้าพบว่าตนเองมีอาการของโรคหัวใจ
โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และโรคปอด เป็นต้น
ก็ไม่ควรเริ่มออกกำลังกายทันที
ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเพื่อรับคำแนะนำที่เหมาะสม
มิฉะนั้นอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้
นอกจากนั้นก็ต้องสังเกตตนเองด้วยว่า
ขณะออกกำลังกายมีอาการเวียนศีรษะ หูอื้อ ตามัว หายใจไม่ทัน
แน่นหน้าอก ใจสั่นหรือไม่
ถ้ามีอาการเหล่านี้ให้รีบหยุดการออกกำลังกายทันที
การออกกำลังกายเป็นสิ่งที่ดีแน่สำหรับผู้สูงอายุ
ถ้าปฏิบัติอย่างปลอดภัย อย่ารอช้าอยู่เลยครับ
ท่านผู้อ่านที่อยู่ในเกณฑ์ที่เรียกว่า เป็นผู้สูงอายุแล้ว
เพราะจะทำให้ท่านรู้สึกกระชุ่มกระชวย
รู้สึกเป็นหนุ่มเป็นสาวขึ้นมาอีกหลายๆ ปีเลยทีเดียว
ไม่เชื่อก็ลองดู !!! |