การจัดตั้งชมรมกีฬาเพื่อสุขภาพ

.

ศ.ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์
ประธานชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย

กีฬาที่จะพูดถึงในที่นี้และต่อไปนี้เป็นกีฬาของมวลชน ไม่ใช่กีฬาของนักแข่งขันระดับเขต ระดับชาติ ระดับนานาชาติ ที่ต้องเอาจริงเอาจังกับการแข่งขันอย่างเอาเป็นเอาตาย เพราะมันเป็นเรื่องคอขาดบาดตายจริง ๆ เพราะชีวิตหรืออาชีพของเขาขึ้นอยู่กับผลแพ้ชนะของการแข่งขันนั้น ๆ ส่วนกีฬาของมวลชนนั้นเป็นกีฬาเพื่อสุขภาพ ต้องการให้มีสุขอนามัยดี ไม่ต้องเสียเงินและเสียเวลาไปหาหมอ ส่วนใครจะเล่นกีฬาเพื่อสุขภาพแล้วเกิดเล่นได้ดีจนไปแข่งขันและได้รางวัลหรือเป็นทีมชาตินั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่เมื่อไปถึงจุดนั้นกีฬานั้น ๆ ก็ไม่ใช่กีฬาเพื่อสุขภาพอีกต่อไป แต่เป็นกีฬาเพื่อการแข่งขันโดยเฉพาะ ประการหนึ่งก็เพราะสุขภาพของนักกีฬาผู้นั้นจะดีเกินเกณฑ์มาตรฐานของการมีสุขอนามัยที่ดีไปมากมายแล้ว อย่างคนที่วิ่งมาราธอน (42.195 กิโลเมตร จากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไปจนถึงประตูน้ำพระอินทร์ รังสิต) ได้นั้นไม่ถือว่าเป็นคนมีสุขภาพดีเฉย ๆ แล้ว แต่เป็นนักวิ่งไปโน่นแล้วทีเดียว ดังนั้นความสุข ความสนุกสนาน ความบันเทิง ความปิติที่จะได้จากการเล่นกีฬาเพื่อสุขภาพก็ต้องลดน้อยถอยไปอย่างที่หยุดห้ามไม่ได้

สรุปก็คือ วิธีคิดและปรัชญาของกีฬาเพื่อสุขภาพและกีฬาเพื่อการแข่งขันนั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

ถามว่าแล้วกีฬาเพื่อสุขภาพนั้นเป็น GAMES หรือเป็น SPORTS ตอบได้ว่ากีฬาเพื่อสุขภาพส่วนใหญ่แล้วจะเป็น GAMES เช่น เต้นรำ เต้นแอโรบิค มวยจีน ฯลฯ แต่จะเป็น SPORTS ก็ได้ เช่น วิ่งจ๊อกกิ้ง จักรยานทางไกล ว่ายน้ำระยะไกล หรือแม้กระทั่งยกน้ำหนัก (เบา ๆ) แบบเวทเทรนนิ่ง (weight training) หรือจะเป็นกึ่ง GAMES กึ่ง SPORTS (คือกึ่งสนุกกึ่งใช้แรงก็ได้) เช่น โบว์ลิ่ง ปิงปอง ฟุตบอล จักรยานท่องเที่ยว โป้งแปะ ฯลฯ หลักสำคัญอยู่ที่ว่ายังคงความสนุกสนานอยู่เป็นเกณฑ์และมีระดับความสำคัญมากกว่าการออกแรงให้เยอะและหนักหรือมากเป็นหลัก จุดประสงค์ก็เพื่อหนีหน้า (ไม่ต้องไปเจอ)หมอ เพราะสุขภาพดีแล้วเพียงเท่านั้นเอง ที่น่าแปลกใจคือในปัจจุบันกีฬาเพื่อสุขภาพในระดับมวลชนส่วนใหญ่ไม่ใช่กีฬาเกมส์ แต่เป็นกีฬาสปอร์ต เช่น วิ่งและจักรยาน หรือเต้นแอโรบิค

 ปัจจุบันนี้มีชมรมวิ่งเพื่อสุขภาพอยู่มากมายทั่วประเทศ ส่วนชมรมกีฬาเพื่อสุขภาพอื่น ๆ ที่พอจะพบเห็นได้บ้างก็เช่น ชมรมไท้เก้ก ชมรมรำดาบ ชมรม(ก๊วน)กอล์ฟ ชมรมฟันดาบไทย ฯลฯ

 แต่ถ้าย้อยเวลากลับหลังไปประมาณปี 2525 ถึง 2530 ขณะนั้นมีชมรมวิ่งเพื่อสุขภาพน้อยมาก แต่ในขณะเดียวกันก็เริ่มมีกระแสสังคมเกี่ยวกับสุขภาพของตัวเองและของประชาชนมากขึ้น ความตื่นตัวที่จะรวมตัวกันก่อตั้งเป็นชมรมฯจึงมีมาก คำถามว่าจะตั้งชมรมวิ่งเพื่อสุขภาพนั้นทำได้อย่างไรจึงเป็นคำถามที่ผู้ผลักดันให้มีการวิ่งเพื่อสุขภาพหลาย ๆ ท่าน เช่น นพ.กฤษฎา บานชื่น นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม และตัวผู้เขียนเอง ถูกถามตลอดเวลา

ปัจจุบัน (2542) คำถามเดิมแต่ในรูปแบบใหม่ คือ จะตั้งชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพได้อย่างไร ก็กลับมาสู่ผู้เขียนอีกอย่างต่อเนื่องในระยะเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา ความจริงแล้วการก่อตั้งชมรมกีฬาเพื่อสุขภาพไม่ว่าจะเป็นการวิ่ง จักรยาน แอโรบิค หรือมวยจีน ก็มีหลักการเหมือน ๆ กัน ประเด็นอยู่ที่ว่าเมื่อตั้งขึ้นมาแล้วมีกิจกรรมหรือไม่ ต่อเนื่องหรือไม่ และเป็นประจำหรือไม่ หากคำตอบสำหรับทั้งสามคำถามเป็นไปในทางลบแม้แต่จะเพียงจากคำถามเดียว ชมรมฯนั้นก็อยู่ไม่รอด สิ่งนี้ประวัติศาสตร์บอกได้ด้วยตัวของมันเองอย่างชัดเจน เพราะมีชมรมฯมากมายที่ตั้งขึ้นมาแล้ว "ตายซาก"ไปอย่างน่าเสียดาย

ดังนั้นปัญหามันคือ ไม่ใช่ว่า "ตั้งอย่างไร" แต่เป็นว่าตั้งแล้ว "จะทำอะไรหรือเปล่า"มากกว่า เพราะการตั้งชมรมนั้นแม้จะไม่ยาก แต่การล้มชมรมฯก็เกิดง่าย ๆ ได้เหมือนกัน

อย่างไรก็ตาม ก็คงยังมีคนอีกมากมายที่คิดจะทำงานให้สังคม ให้กลุ่ม ให้ชุมชน และอยากตั้งชมรมกีฬาเพื่อสุขภาพขึ้น ผู้เขียนในฐานะประธานชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยที่คิดว่าตัวเองมีประสบการณ์การจัดตั้งชมรมวิ่งเพื่อสุขภาพมาก่อน รวมทั้งได้เคยเป็นพี่เลี้ยงการจัดตั้งชมรมวิ่งและจักรยานอีกหลายชมรม ก็จะขอประมวลวิธีการจัดตั้งชมรมฯขึ้นมาไว้เป็นข้อแนะนำสำหรับผู้ที่ประสงค์จะตั้งชมรมกีฬาเพื่อสุขภาพไว้ดังนี้

.

1. เริ่มต้น

เริ่มต้นต้องหากลุ่มคนที่มีความชอบ ความสนใจในเรื่องเดียวกันก่อน ซึ่งเรื่องนี้มักไม่ใช่ปัญหา เพราะคนที่ดำริจะจัดตั้งชมรมฯ ก็มักจะมีกลุ่มคนนี้ด้วยอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ควรต้องลงลึกคือเรื่องของแนวคิดของกลุ่ม เพราะหากแนวคิดไม่ตรงกันแล้ว ชมรมฯถึงหากตั้งขึ้นมาก็จะไม่จีรัง ยกตัวอย่างเช่นการตั้งชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพก็มีแนวคิดหรือปรัชญาการทำงานต่างจากของชมรมจักรยานเพื่อการท่องเที่ยว หรือเพื่อการแข่งขัน หรือเพื่อธุรกิจการค้า

ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพหลายแห่ง นอกจากมีกิจกรรมด้านสุขภาพแล้ว ยังมีกิจกรรมด้านการท่องเที่ยว (เพราะถือว่าเป็นการเสริมสุขภาพใจนอกจากสุขภาพกาย) หรือการแข่งขันด้วย กล่าวคือ สมาชิกชมรมฯอาจเก่งขึ้นจนชมรมฯถึงกับส่งเข้าแข่งขันนำชื่อเสียงเข้าชมรมฯ ซึ่งก็ทำได้ เพราะถือเป็นการประชาสัมพันธ์ชมรมฯ ว่าทำกิจกรรมได้ดีจนสมาชิกเก่งมากขึ้น ๆ แต่ถ้าเน้นกิจกรรมด้านแข่งขันนี้บ่อย ๆ จุดประสงค์หลักของการตั้งชมรมฯ ขึ้นมาเพื่อส่งเสริมสุขภาพอนามัยก็จะเพี้ยนไป และอาจไม่สมควรใช้ชื่อชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพต่อไป เพราะทำให้ประชาชนทั่วไปสับสนกับคำว่า "สุขภาพ" ได้ว่าต้องแข็งแกร่งและแข็งแรงขนาดต้องลงแข่งขันและต้องชนะเท่านั้น ไม่เช่นนั้นก็ไม่ถือว่ามีสุขภาพดี ซึ่งก็จะมีผลโยงไปถึงการ(ไม่)ตัดสินใจตั้งชมรมเพื่อสุขภาพของกลุ่มคนอื่น ๆ อีกต่อไป

ส่วนชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยนี้ เดิมมีการเสนอว่าให้เปลี่ยนชื่อเป็นชมรมจักรยานเพื่อ"สิ่งแวดล้อม" เพราะมีกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมอยู่มากพอสมควร เช่นรณรงค์เพื่อลดมลพิษอากาศในเมือง หรือจัดให้มีโครงการรีไซเคิลจักรยานเก่า (ลดขยะและสารพิษ) หรือรณรงค์ให้ลดการใช้พลังงาน ดังนี้เป็นต้น แต่หลังจากที่ได้อภิปรายและปรึกษาหารือกันแล้วก็มีความเห็นให้คงชื่อเดิมไว้ เพราะเราตีความหมายของคำว่า"สุขภาพ"นี้ว่า ไม่ใช่สุขภาพทางกายที่หลายคนวาดภาพเอาไว้ว่าเพียงแต่แข็งแรง ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย ไม่ต้องไปพบหมอเป็นประจำ ก็ถือว่ามีสุขภาพดีแล้ว แต่เราให้ความหมายของคำว่า"สุขภาพ"ว่า หมายถึงสุขภาพของเมือง ของชุมชน ของประเทศด้วย ซึ่งนั่นก็คือเมืองหรือชุมชนหรือประเทศจะต้องมีน้ำใส อากาศสะอาด ปราศจากขยะและสารพิษ รวมทั้งคนในชุมชนต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งนั่นก็คือเรื่องของสิ่งแวดล้อมเมืองนั่นเอง ชมรมฯจึงยังคงคำว่า"สุขภาพแห่งประเทศไทย"ไว้ โดยตั้งปณิธานว่าจะช่วยยกระดับ "สุขภาพเมือง" ให้ดีขึ้นเท่าที่จะทำได้

โดยสรุปก็คือในขั้นเริ่มต้น ต้องมีกลุ่มคนที่ทำงานเหมือน ๆ กันมาอยู่ร่วมกัน และมีเจตน์จำนงเช่นเดียวกัน การตั้งชมรมฯจึงจะเกิดขึ้นได้

2. จำนวนคน

กลุ่มคนตามข้อหนึ่งนั้นไม่จำเป็นต้องมีมาก ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยเริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2534 ด้วยจำนวนคนเพียง 40 คนเศษ และได้ขยายฐานกำลังหรือจำนวนสมาชิกเป็นถึงกว่า 2 พันคนในเวลาเพียง 7 ปีเศษ และที่เรียกว่าเป็น"ฐานกำลัง"ก็เพราะชมรมฯต้องการทำงานให้สังคมในวงกว้าง เช่นผลักดันให้มีการวางแผนและจัดสร้างระบบทางเดินจักรยานในชุมชน ฯลฯ จึงต้องสร้างกระแสสังคม และการจะสร้างกระแสสังคมแบบนี้ได้ต้องใช้คนจำนวนมากพอควร เพื่อจะได้มีน้ำหนักในการเรียกร้องหรือต่อรองหรือเสนอแนะต่อภาครัฐ หน้าที่ประการหนึ่งของชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยก็คือ ต้องพยายามให้มีกลุ่มคนที่สนใจเรื่องการใช้จักรยานเป็นทางเลือกในการเดินทางมาร่วมอยู่ในชมรมฯให้ได้เพิ่มขึ้นตามลำดับ

แต่สำหรับกลุ่มคนที่ต้องการจัดตั้งชมรมฯขึ้นในชุมชนของตัวเอง โดยเฉพาะในต่างจังหวัดนั้น เป้าหมายการเพิ่มจำนวนสมาชิกให้มาก ๆ ไม่น่าจะเป็นประเด็นสำคัญ ความจริงแล้วคำกล่าวที่ว่า "มากหมอมากความ" ก็ยังใช้ได้ดีกับงานของชมรมฯ เพราะในบางกรณีมีคนมากไป ก็อาจทำให้มีความหลากหลายทางความคิดมากจนหาจุดลงตัวไม่ได้ และทำให้เกิดปัญหาในเชิงปฏิบัติได้ด้วยเช่นกัน

สรุปคือ ถ้ามีคนใจเดียวกันประมาณเพียง 10 คน ก็น่าจะตั้งเป็นชมรมฯได้แล้ว
 

3. แกนนำ

จากนั้นก็ต้องเลือกคนที่จะมาเป็นแกนนำของกรรมการชมรมฯ บุคคลหลัก ๆ ในช่วงเริ่มต้นมีเพียงแค่ 2 คน คือตำแหน่งประธานและตำแหน่งเลขาธิการ คนที่จะมาเป็นประธานควรค่อนข้างเป็นผู้ใหญ่ มีบารมีด้านบริวารและทางสังคมพอสมควร แต่หากหาคนที่มีบุคลิกภาพนี้ไม่ได้ก็ยังตั้งชมรมฯได้ เพียงแต่อาจจะโตช้าหรือไม่ก็แคระแกรมอยู่อย่างนั้น ทว่าหากกลุ่มคนนั้น ๆ ต้องการงานเพียงแค่นั้น ไม่ต้องการขยายเป็นอย่างอื่น คุณสมบัติของประธานก็เพียงเป็นผู้ใหญ่นิดหน่อยก็น่าจะพอ

แต่หากต้องการทำงานในสังคมท้องถิ่น เช่น รณรงค์เพื่อลดการเสพยาบ้าในจังหวัดของตัวเองฯลฯ คนที่จะมาเป็นประธานก็ควรเข้าถึงบุคคลหรือเจ้าหน้าที่ระดับบริหารงานท้องถิ่นได้ เช่น นายกเทศมนตรี ผู้กำกับการตำรวจท้องถิ่น นายอำเภอ ฯลฯ เพื่อที่จะร่วมมือกันในโครงการขนาดไม่เล็กที่จะทำกันขึ้นต่อไป

ส่วนเลขาธิการควรเป็นคนที่คล่อง มีไฟแรง (ไม่จำเป็นต้องเป็นคนหนุ่มคนสาวเท่านั้น) ทำงานได้รอบด้าน สามารถทำงานแทนประธานช่วงประธานไม่อยู่ ฯลฯ เพราะจะต้องเป็นแม่บ้านของชมรมฯ ไม่ว่าจะเป็นด้านเอกสาร การจัดการ การวางแผน การติดต่อประสานงาน การประชุม ฯลฯ คนนี้จึงมีความสำคัญต่อชมรมฯไม่น้อยกว่าประธาน

แต่ถ้าหากเป็นชมรมใหญ่ มีสมาชิกเป็นจำนวนมาก และมีเงินหมุนเวียนในชมรมแต่ละปีไม่น้อยนัก (เพียงปีละ 5 หมื่นก็ไม่น้อยแล้ว) ก็ควรมีกรรมการอีกตำแหน่งหนึ่งคือเหรัญญิก หรือฝ่ายการเงิน เพื่อดูแลการเงินการทองให้โปร่งใสและตรวจสอบได้ ปกติการจัดตั้งชมรมฯใหม่ ๆ ในช่วงแรก ๆ มักไม่มีปัญหานี้ เพราะมีเม็ดเงินผ่านมือไม่มาก และทุกคนก็ทำด้วยใจรักแบบอาสาสมัครที่ไม่ได้มีเงินติดมือกลับบ้าน แต่เมื่อทำๆไปแล้ว ปัญหานี้มักเกิดขึ้นอยู่บ่อย ๆ อาจจะโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ดี โดยความเข้าใจผิดก็ดี หรือโดยจงใจเอาเปรียบสมาชิกคนอื่น ๆ ก็ดี แต่ปัญหานี้ก็เกิดขึ้นได้อย่างง่าย ๆ อย่างที่ไม่คาดคิด และเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็เปรียบเหมือนรอยร้าวของแก้วที่ประสานเชื่อมได้ยาก และจะเป็นผลเสียต่อชมรมฯในที่สุด
 

เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญและต้องพึงระวัง การที่จะคัดตัวคนใดคนหนึ่งมาเป็นกรรมการหรือแม้กระทั่งสมาชิกก็ต้องดูให้ดีพอควร บุคคลใดที่พอจะรู้มาได้ว่าชอบเอาเปรียบสังคมส่วนรวมหรือต้องการเข้ามาแสวงประโยชน์จากชมรมฯในรูปของการทำธุรกิจ หรือเข้ามาโกงเอาดื้อ ๆ ก็พึงไม่ให้เข้า หรือถ้าเข้ามาแล้วก็ต้องหาทางคัดทิ้ง หรือให้ออกไปจากชมรมฯ จะโดยทางตรงหรือทางอ้อมก็ตามที

เรื่องนี้ไม่ใช่พูดกันเล่น ๆ หรือเลื่อนลอย ขนาดในชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย ซึ่งมีกรรมการผู้มีความรู้ความสามารถและจิตใจสะอาดเป็นส่วนใหญ่ และเป็นที่ยอมรับของสังคมโดยรวม ก็ยังเคยมีบุคคลที่มีบุคลิกภาพทางลบดังกล่าวแอบแฝงเข้ามาเอาเปรียบการทำงานของชมรมฯอยู่เป็นบางครั้ง ซึ่งหากเกิดเหตุการณืเช่นนี้ก็คงต้องทำใจให้เป็นอุเบกขาและตัดทิ้งออกจากใจ และเดินหน้าตามอุดมการณ์ของชมรมฯต่อไป

อย่างไรก็ตามที่พูดมาทั้งหมดในหัวข้อนี้เป็นทฤษฎี ซึ่งในทางปฏิบัติทำได้ยากมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคัดเลือกคนที่จะเข้ามาเป็นสมาชิกของชมรมฯ เพราะยังหากฏเกณฑ์ที่เหมาะสมที่จะมาคัดเลือกคนที่จะเข้ามาเป็นสมาชิกของชมรมฯ เพราะยังหากฏเกณฑ์ที่เหมาะสมที่จะมาคัดเลือกคนที่ไม่พึงประสงค์ออกไปจากระบบได้ตั้งแต่แรกสมัคร ยกตัวอย่างเช่น มีอดีตสมาชิกของชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยผู้หนึ่งที่เดินทางไปท่องเที่ยวกับชมรมฯโดยไม่ยอมชำระค่าเดินทางอยู่หลายครั้ง โดยอ้างว่าประธานชมรมฯเป็นคนอนุมัติให้ไปได้ฟรี ๆ ขณะที่ประธานชมรมฯไปท่องเที่ยวกับชมรมฯก็ยังต้องชำระค่าใช้จ่ายตามปกติ จนท้ายสุดสมาชิกคนที่ไปด้วยกันนั่นแหล่ะทนไม่ได้ และต้องขับไล่สมาชิกกาฝากผู้นั้นออกจากชมรมฯอย่างเป็นทางการ

แต่ตัวอย่างแบบนี้ก็มีน้อยมาก น้อยจนไม่จำเป็นต้องเอามาเป็นตัวถ่วงการตัดสินใจทำงานเพื่อส่วนรวมของคนที่อยากทำงาน
 

4. กรรมการ

กรรมการตำแหน่งอื่น ๆ ได้แก่

รองประธาน (อาจมีมากกว่าหนึ่งคน แต่ต้องใช้กับชมรมที่มีขนาดใหญ่ และทำงานมาได้ช่วงหนึ่งแล้ว และมีงานหรือกิจกรรมมากจนต้องมีรองประธานมาช่วยงาน)

ผู้ช่วยเลขาธิการ (เช่นเดียวกัน ใช้สำหรับชมรมขนาดใหญ่ตั้งมานานแล้วพอสมควร ถ้าเป็นชมรมขนาดเล็กหรือเพิ่งเริ่ม ตำแหน่งนี้ไม่ควรมีเพราะจะเกิดการเกี่ยงงานกันขึ้นได้)

บัญชี (สำหรับจัดระบบบัญชี และทำงบดุลแถลงต่อสมาชิกในการประชุมประจำปี นี่ก็อีกเช่นกันที่จะใช้เฉพาะสำหรับชมรมฯที่มีงานมาก และมีงบประมาณสูงเกินที่จะปล่อยไปโดยไม่ตรวจสอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีโครงการที่ขอบริจาคจากประชาชนทั่วไป แต่สำหรับชมรมเล็ก ๆ แล้วไม่ควรมีตำแหน่งนี้เลย เพราะจะทำให้ยุ่งยาก หาคนมาทำงานลำบาก และจะทำให้การจัดตั้งองค์กรเกิดขึ้นไม่ได้เสียด้วยซ้ำ)

นายทะเบียน (คนนี้ก็มีบทบาทสำคัญ เพราะจะต้องเป็นคนที่รวบรวมรายชื่อของสมาชิกทั้งใหม่และเก่า และต้องปรับปรุงให้ทันสมัยอยู่ตลอดเวลาด้วย รายชื่อพวกนี้สำคัญมากหากชมรมอยู่ในเมืองใหญ่ เพราะจะต้องใช้สำหรับการประสานงานทั้งระหว่างมวลสมาชิกและกับบุคคลภายนอก)

ฝ่ายนายทุน (หากต้องการทำงานให้ใหญ่ มีโครงการสนองตอบต่อสังคมได้มากตำแหน่งนี้ก็อาจจำเป็น มิฉะนั้นก็ทำงานไม่ได้)

ประชาสัมพันธ์ (ตำแหน่งนี้สำคัญในยุคข่าวสารแบบปัจจุบัน ต้องเป็นคนที่กว้างขวางในสังคมทั้งท้องถิ่นและส่วนกลาง เพื่อที่จะได้กระจายข่าวกิจกรรมของชมรมฯให้สังคมภายนอกรู้จัก ซึ่งจะเป็นผลพวงต่อให้ฝ่ายหาทุนทำงานให้ง่ายขึ้นด้วย)

บรรณาธิการ (เรียกตำแหน่งนี้ให้โก้เข้าไว้ เป็นคนที่รับผิดชอบต่อการจัดทำจดหมายข่าวหรือสารสัมพันธ์ระหว่างสมาชิก และเผยแพร่ออกสู่ภายนอก สารสัมพันธ์ดังกล่าวนี้มีความจำเป็นมากเพราะเป็นสิ่งเดียวที่ใช้สื่อสารระหว่างกัน การที่เป็นชมรมฯขึ้นมาแต่ไม่มีการสื่อสารกันและกัน ก็ไม่สามารถเป็น"ชุมชนชาวจักรยาน" หรือชุมชนลักษณะอื่นได้ และนี่คือปัญหาใหญ่เพราะปัจจุบันการพิมพ์ลงคอมพิวเตอร์ไม่ใช่เรื่องยาก การถ่ายสำเนาก็ทำได้ง่าย แต่การหาบทความที่ดี ๆ มีคนเขียนที่พอเขียนให้รู้เรื่องได้ และมีจำนวนมากพอให้จดหมายข่าวออกได้ต่อเนื่องและเป็นประจำนี่สิเป็นเรื่องยาก และเป็นปัญหากับชมรมฯส่วนใหญ่ บอกได้เลยว่าอย่างน้อยร้อยละ 90 ของชมรมฯในประเทศขาดคุณสมบัติข้อนี้ ซึ่งนั่นก็แสดงว่าชมรมต่าง ๆ ในบ้านเรายังไม่ใช่ชมรมฯ หรือชุมชนในความหมายที่แท้จริงนัก อย่างไรก็ตามในบางกรณีชมรมฯเหล่านี้ก็ดำเนินกิจกรรมมาได้อย่างดี ความจำเป็นต้องมีจดหมายข่าวจึงอาจไม่ใช่สิ่งจำเป็นสุดยอดของการจัดตั้งชมรมฯ โดยเฉพาะชมรมฯขนาดเล็ก)

กรรมการกลาง (ที่เหลือก็เป็นกรรมการกลาง ซึ่งมีจำนวนเท่าใดขึ้นอยู่กับขนาดของชมรมฯ ในบางชมรมฯที่มีขนาดเล็กมาก ๆ สมาชิกทุกคนต้องเป็นกรรมการหมด ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่เสียหาย แต่เป็นเครื่องชี้ว่าชมรมฯนั้นมีขนาดเล็กแต่ทุกคนก็ยินดีลงแรงกาย แรงใจมาช่วยงานสาธารณกุศลทั้งสิ้น ซึ่งก็น่าภูมใจกว่ากรณีที่เป็นชมรมฯใหญ่ แต่หาอาสาสมัครไม่ได้)

5. กฎหมาย

ชมรมต่าง ๆ ที่มีขึ้นในประเทศไทยนี้ไม่มีฐานะทางกฏหมายทั้งสิ้น ไม่เหมือนกับสมาคมหรือมูลนิธิที่ต้องไปจดทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติและสำนักตำรวจแห่งชาติการตั้งชมรมจึงง่ายมาก หากหากลุ่มคนที่มีคุณสมบัติตามที่เขียนไว้ข้างต้นได้พอสมควร ก็สามารถประกาศจัดตั้งเป็นชมรมขึ้นมาได้เลย

ส่วนใหญ่แล้วมักจะมีการประชุมครั้งแรกโดยนัดทานอาหารร่วมกันแล้วปรึกษาหารือในตำแหน่งประธาน, เลขาธิการ และก็จัดตั้งชมรมขึ้นได้เลย ซึ่งจะเห็นได้ว่าทั้งง่าย สะดวกและคล่องตัวมาก

แต่จากการที่เป็นชมรมโดยไม่มีกฎหมายรองรับ (เพราะจัดตั้งง่าย) เช่นนี้เอง ทำให้มีปัญหาตามมาบ้าง โดยเฉพาะชมรมที่ต้องทำงานในระดับใหญ่ ๆ เพราะชมรมนั้น ๆ จะไม่มีตัวตนทางกฏหมายจึงไม่สามารถออกใบเสร็จรับเงินชนิดที่สรรพากรยอมรับและรับรองได้ เมื่อจะไปขอทุนสนับสนุนจากทางราชการหรือห้างร้าน (ขนาดใหญ่เช่นกัน) ที่ต้องการใบเสร็จสำหรับไปใช้หักภาษีภายหลังก็ไม่สามารถทำได้ แต่ถ้าเป็นชมรมเล็ก ๆ ใช้เงินจากสมาชิกหรือกรรมการหรือเพื่อน ๆ ด้วยกันเอง ปัญหานี้ก็ไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป

อย่างไรก็ตาม หากการตั้งชมรมทำขึ้นมาโดยคนกลุ่มหนึ่ง และคนกลุ่มนั้นเป็นประธาน เลขาธิการ ฯลฯ ต่อไปทุก ๆ ปี โดยไม่มีการถามสมาชิกว่าจะมีการเลือกตั้งกันใหม่หรือไม่ หรือถามไถ่แล้วก็ไม่มีการเลือกตั้งใหม่เพื่อให้คนอื่นมีโอกาสเข้ามาทำงานบ้าง ชมรมนั้นก็เป็นชมรม"เถื่อน"ในสายตาของคนอื่นๆ หรือหากเป็นชมรมที่มีกรรมการอยู่ 2-3 คน แต่พยายามสร้างภาพว่าเป็นชมรมของมวลชน อย่างนี้ก็ถือว่าเป็นแก๊งมากกว่าจะเป็นชมรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ากิจกรรมที่ทำโดยแก๊งนั้น ๆ ทำเพื่อมุ่งหวังกำไรเชิงธุรกิจของแก๊งมากกว่าจะเป็นชมรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ากิจกรรมที่ทำโดยแก๊งนั้น ๆ ทำเพื่อมุ่งหวังกำไรเชิงธุรกิจของแก๊งมากกว่าเพื่อนำรายได้มาเป็นฐานสำหรับทำงานเพื่อสังคมและสาธารณชนต่อไป
 

6. ชื่อและโลโก้

เมื่อเสร็จจากการตกลงปลงใจตั้งเป็นชมรมแล้ว ก็ต้องตั้งชื่อชมรม ซึ่งควรตรวจสอบกับวงการในวงกว้างเพื่อที่จะได้ไม่มีชื่อซ้ำซ้อนและเกิดการสับสนกันในภายหลัง จากนั้นก็ต้องหาคนที่มีฝีมือมาช่วยออกแบบสัญญลักษณ์หรือโลโก้ของชมรมฯ แต่หากไม่ต้องการความสวยงาม (เท่)ในด้านนี้ ตัวโลโก้ก็ไม่จำเป็น แต่ชื่อชมรมนั้นจำเป็นแน่เพราะไม่เช่นนั้นคนอื่น (รวมทั้งเราด้วย)ก็ไม่รู้จะเรียกกลุ่มของเราว่าอะไร
 

7. จุดประสงค์

ชมรมควรมีจุดประสงค์ของชมรมว่าตั้งชมรมขึ้นมาเพื่ออะไร และอยากทำอะไร รวมทั้งควรประกาศจุดยืนของชมรมให้เป็นที่รู้กันในหมู่สมาชิกและสังคมภายนอก จะได้ทำงานได้ไม่ออกนอกลู่นอกทาง ถ้าเขียนเป็นบันทึกลายลักษณ์อักษรเลยได้ก็ยิ่งดี ในที่นี้ขอยกวัตถุประสงค์ของชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยให้ดูเป็นตัวอย่างดังนี้

ส่งเสริมการใช้จักรยานในทุกกิจกรรม เช่น เพื่อสุขภาพ คมนาคม ท่องเที่ยว และสันทนาการเป็นต้น

ส่งเสริมการแก้ไขปัญหาจราจรด้วยการใช้จักรยานทั่วประเทศ

เป็นองค์กรประสานงานระหว่างผู้ใช้จักรยานทั่วประเทศ

อนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม

ร่วมกันทำกิจกรรมเพื่อสาธารณประโยชน์ และสันติภาพของมวลมนุษยชาติ

นอกจากนี้ชมรมยังมีคำขวัญต่ออีกด้วยว่า

"สองขาปั่น สองล้อหมุน เกื้อหนุนกัน สร้างสรรค์สังคม" และ"ปั่นจักรยานไปเที่ยวน่ะเที่ยวแน่ แต่จะแก้ปัญหาสังคมไปพร้อมกัน" ซึ่งก็เป็นการแสดงจุดยืนหรือปรัญญาของชมรมได้อย่างสั้น ๆ และง่าย ๆ
 

8. กิจกรรม

กิจกรรมของชมรมขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ที่ตั้งมา หากตั้งขึ้นมาเพื่อการท่องเที่ยว แต่ไปจัดกิจกรรมการแข่งขันอย่างเอาเป็นเอาตายก็คงจะผิดจุดประสงค์ไป และกิจกรรมของชมรมนี่แหล่ะจะเป็นตัวบ่งชี้อนาคตของชมรม หากตั้งขึ้นมาแล้วไม่มีกิจ กรรมไปสักระยะหนึ่ง ความเป็นชมรมก็จะสลายและมวลสมาชิกก็จะหายหน้าหายตาไปทีละคนสองคน จนชมรมเหลืออยู่แต่ชื่อในที่สุด

 อย่างไรก็ตาม หากมีกิจกรรมมากแต่กิจกรรมนั้นเป็นการหาเงินเพื่อเข้ากระเป๋าของผู้บริหารชมรมฯ ในไม่ช้าผู้คนก็จะรู้ความจริง และความจีรังของชมรมนั้น ๆ ก็อาจไม่แน่นอนขึ้นได้ การตั้งชมรมจึงต้องระมัดระวังในด้านนี้พอสมควร

ถ้าเป็นชมรมเล็ก ๆ ตั้งขึ้นใหม่ กิจกรรมไม่ต้องไปเน้นอะไรที่ใหญ่โต เพียงแต่จัดกิจกรรมร่วมกัน จัดกลุ่มไปร่วมกิจกรรมที่องค์กรอื่นเขาจัดขึ้น (เราจะได้ไม่เหนื่อยแรง) เช่น ที่ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยจัดทริปท่องเที่ยว หรือนำจักรยานเก่ามาซ่อม หรือพาเด็กด้อยโอกาสไปเที่ยว หรือทอดผ้าป่าด้วยจักรยาน หรือรณรงค์ลดการใช้พลังงาน หรือลดมลพิษฯลฯ ชมรมเล็ก ๆ ก็สามารถนำกลุ่มไปร่วมกับเขาและถือเป็นกิจกรรมของกลุ่มได้ด้วย

เป็นที่น่าเสียดายที่กิจกรรมในลักษณะดังกล่าวยังมีอยู่น้อย และมีแค่ในกรุงเทพมหานคร ส่วนใหญ่ที่เหลือมักเป็นกิจกรรมการแข่งขันจักรยานเสียส่วนใหญ่ โอกาสที่ชมรมเล็ก ๆ จะไปร่วมกิจกรรมใหญ่ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมจึงมีไม่มากนัก ชมรมใหญ่ ๆ ทั่วประเทศจึงควรริเริ่มกิจกรรมทำนองบริการสังคมนี้ให้มากขึ้น และประสานงานกับชมรมอื่น ๆ ให้เป็นไปตามลักษณะเครือข่ายของชมรม ก็จะทำให้ลดการซ้ำช้อนของงาน และมีความผูกพันระหว่างกันมากขึ้น
 

9. ข้อบังคับ

ถ้าการที่จะมีข้อบังคับของชมรมทำให้ยุ่งยากจนจัดตั้งชมรมไม่ได้ ก็อย่าไปสร้างเงื่อนไขนี้ขึ้น เพราะเกือบทุกชมรมในประเทศไทยไม่มีข้อบังคับของชมรมแต่ก็ทำงานกันได้ ดังนั้นข้อนี้จึงไม่ใช่สิ่งจำเป็นยิ่งยวด แต่ถ้าหากสามารถจัดให้มีขึ้นได้ ก็ช่วยให้การทำงานของชมรมรัดกุม รอบคอบ และมีข้อโต้แย้งน้อยลง

อย่าลืมว่าชมรมเป็นองค์กรหลวม ๆ ไม่มีกฏหมายรองรับ การไว้เนื้อเชื่อใจกันจึงเป็นหัวใจหลักของการทำงานในลักษณะนี้มากกว่าข้อบังคับที่ตั้งขึ้นแล้วไม่มีคนปฏิบัติตาม
 

10. ประชุมประจำปี

การประชุมประจำปีจะจัดว่าจำเป็นก็จำเป็น จะว่าไม่ก็ไม่ ขึ้นอยู่กับขนาดและความตั้งใจจริงของชมรม แต่ถ้าเป็นชมรมใหญ่แล้วสิ่งนี้จำเป็นมาก เพราะเป็นโอกาสที่กรรมการจะแถลงผลงานให้สมาชิกทราบว่าทำอะไรไปบ้างในปีที่ผ่านไป มีการแถลงงบดุลให้โปร่งใสและให้สมาชิกทราบและซักถาม รวมทั้งมีการเลือกตั้งกรรมการชุดใหม่ด้วย (ถ้าจะมี) ส่วนการประชุมประจำปีก็เป็นได้ทั้งอย่างมีรูปแบบ (ประชุมในห้องประชุม มีประธาน มีการแถลง มีการซักค้านฯลฯ) และแบบง่าย ๆ (กินข้าวร่วมกัน และปรึกษาหารือกัน) ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดของชมรมดังที่กล่าวมาแล้ว

ปัจฉิมลิขิต

ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย ยินดีเป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำแก่กลุ่มคนที่ต้องการก่อตั้งชมรมจักรยานขึ้น และหากชมรมนั้น ๆ จะเป็นสมาชิกของชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยอีกต่อหนึ่งก็จะยิ่งดี เพราะจะเป็นการสร้างเครือข่ายที่มีไว้สำหรับแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกันได้อย่างกว้างขวางและรวดเร็ว

ผู้สนใจติดต่อได้ที่

ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย
122/4 ซอยเรวดี (แยกซอยศาสนา)
ถนนพระรามที่ 6 สามเสนใน พญาไท  กทม.10400