<% Set FileObject = Server.CreateObject("Scripting.FileSystemObject") Dir = Request.ServerVariables("SCRIPT_NAME") Dir = StrReverse(Dir) Dir = Mid(Dir, InStr(1, Dir, "/")) Dir = StrReverse(Dir) HitsFile = Server.MapPath(Dir) & "\hitcounter\hits_pramote_limkool.txt" On Error Resume Next Set InStream= FileObject.OpenTextFile (HitsFile, 1, false ) OldHits = Trim(InStream.ReadLine) NewHits = OldHits + 1 Set OutStream= FileObject.CreateTextFile (HitsFile, True) OutStream.WriteLine(NewHits) %> ไม่เห็นโรงศพไม่หลั่งน้ำตา

 

โดย...หมอเขี้ยว

       

     เหตุเกิดขึ้นในห้องน้ำ ณ. บ้านพักริมแม่น้ำปิงจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อเวลาประมาณ 23 นาฬิกา 30 นาที ของวันที่ 6 เดือน ธันวาคม พ.ศ. 2539

 กลับจากงานเลี้ยงในฐานะรองคณบดีฝ่ายวิเทศน์สัมพันธ์รับรองแขกของคณะทันตแพทยศาสตร์ มีอาหารเย็น เหล้าและเบียร์ (ซึ่งผู้เขียนไม่เคยปฏิเสธการดึ่ม อาจจะบอกว่าชอบเป็นส่วนตัวด้วย) ขณะนั้นมีอาการอ่อนเพลีย และง่วงนอนมากจึงรีบอาบน้ำเพื่อเข้านอน น้ำเย็นตามฤดูกาล ไหลจากฝักบัวลงสู่ศีรษะ ผ่านใบหน้าลงสู่คอ หน้าอก ท้อง ขา และเท้าก่อนที่จะไหลลงพื้น อย่างแรง ตามอำนาจของเครื่องสูบน้ำ ในห้องอาบน้ำ ทันใดนั้น มือข้างซ้ายที่จับด้ามของฝักบัว เกิดอาการ ชา เริ่มเจ็บหน้าอก จนต้องปล่อยด้ามฝักบัว ขาเริ่มสั่นจนต้องทรุดลงพิงข้างฝา พยายามนั่งพิงผนังห้องน้ำเหยียด แขนขา ออกให้สบายที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ไม่ยอม ล้มลง ขณะนั้นบอกตัวเองว่า ยังตายไม่ได้ลูกยังเล็ก        กำลังเรียนหนังสือ มีค่าใช้จ่ายอีกมาก ขณะเดียวกัน ก็ไม่ต้องการปลุกภรรยา ที่นอนหลับ สิ่งที่ทำได้ คือนั่งนิ่งประมาณ30นาที (เป็นเวลา 30 นาที ที่มีค่ามากที่สุด ที่ได้หันมามองบทบาท และทบทวนการกระทำของตนเองในอดีตที่ผ่านมา) เมื่ออาการดีขึ้น แต่งตัวกลับไปนอน เช้าไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง เพราะรู้จักกับนายแพทย์ดุสิต ชุ่มภิรมณ์ (ขออนุญาตเอ่ยชื่อด้วยความเคารพและขอขอบคุณมา ณ.ที่นี้ด้วย) ผู้เชี่ยวชาญทางโรคหัวใจพร้อมทั้งเล่าอาการให้ท่านฟัง คุณหมอสั่งตรวจร่างกาย เหมือนเราเป็นผู้ป่วยอาการหนักที่ใกล้จะตาย “อะไรจะปานนั้น” พร้อมทั้งสั่งห้าม ห้าม และห้าม จนจำไม่ได้ว่าท่านห้ามอะไรบ้าง เพราะจิต ล่องลอยหายไป จนจับไม่อยู่ จิตใจว้าวุ่น โดดเดี่ยว ท่านพาไปตรวจ EKG (เครื่องวัดการทำงานของหัวใจ) ปรากฏว่าผลการตรวจ ที่พบในกระดาษกราฟรายงานผล “เข็มเคลื่อนที่บันทึก กลับหัวลง” ท่านมองหน้าผู้เขียน หันไปมองดูเครื่องอีเลคโทรนิกส์ หันไปมองเจ้าหน้าที่ควบคุมเครื่อง หันกลับมามองกระดาษกราฟแสดงผลการตรวจอีกครั้ง ผู้เขียน “คิดว่าถึงเวลาแล้วกระมังที่จะต้องถูกพิพากษาโทษขั้นสถานหนัก จากการละเลยการดูแลสุขภาพตนเอง” เงียบอยู่สักครู่ คำบัญชาออกจากปากท่าน “ตรวจใหม่ !” ผลจากการตรวจใหม่ “ปกติ” ไชโย รอดตายแล้ว เป็นเสียงตีบตันอยู่ในลำคอจนไม่มีเสียงออกมาให้ได้ยิน

อดีต ผู้เขียนชอบเรียนหนังสือ จบปริญญาตรี (ท.บ. จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย); ปริญญาโท (M.S.D. จากสหรัฐอเมริกา) และ ปริญญาเอก (Ph.D. จาก T.D.C.) หลงตนเองว่ามีความรู้ แต่เข้าตำรา "ยิ่งเรียนมาก รู้มาก ก็ยิ่งโง่มาก” ซึ่งเป็นเรื่องจริง ในขณะนั้น เมื่อมีใครสักคนมาพูดว่าติดโปรแกรมออกกำลังกายไม่สามารถทำตามนัดหมายได้ จะพูดในใจเหมือนสอนตนเองว่า “ไร้สาระ” ปล่อยปละละเลยจนสุขภาพตนเองขณะนั้นใกล้จุดจบเข้าไปมากที่สุดแล้วโดยไม่รู้ตนเอง ผู้เขียนรับราชการ ชอบทำงาน

ชอบเข้าสังคม ชอบงานเลี้ยง ชอบมีเพื่อนคุย ชอบกินอาหารทุกชนิด ไม่เลือกอาหาร ไม่เลือกเวลากิน ได้กินก่อนนอนจะมีความสุขมาก นอนหลับดี น้ำหนักมากไปเล็กน้อย สะสมไขมันที่พุงบ้างพอสมควร คลอเรสเตอรอลจากการตรวจสุขภาพประจำปี ประมาณ 200 เศษ มีอาการอ่อนเพลียโดยไม่ทราบเวลา สามารถนั่งหลับได้เกือบทุกโอกาสที่ได้นั่ง ยิ่งนอนได้ยิ่งชอบ เมื่อเกิดเหตุ เดือนธันวาคม 2539 ที่ผ่านมา

แพทย์สั่งให้ ออกกำลังกาย ลดอาหาร ลดไขมัน ความสุขที่พึงจะได้รับเป็นค่าตอบแทนการทำงานในแต่ละวันหายไปทันที ผู้เขียนต้องยอม “ในฐานะที่เราเป็น ผู้ป่วยของท่าน”

เริ่มชีวิตใหม่ ด้วยการออกไปเดินตอนเช้าที่สนามกีฬาเทศบาลนครเชียงใหม่ “ช้างเผือก” ต้องใช้นาฬิกาปลุก 2 เรือน ตี 5 แต่งตัวเสร็จเกือบ 6 โมงเช้า ถึงสนามกีฬา เดินหนึ่งรอบ เหนื่อย เบื่อ อยากกลับบ้าน อยากนอน ขณะที่กำลังมีอาการเบื่ออย่างรุนแรง โชคดีพบเพื่อนอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่มาวิ่งประจำทุกวัน ท่านคงจะวิ่งผ่านเราไปหลายรอบกระมัง จึงหยุดวิ่ง มาเดินคุยด้วย มาให้กำลังใจ และเป็นเพื่อนที่แสนดีในยามที่ต้องการเพื่อนสักคน ต่อมาพบว่าท่านเป็นผู้ที่มี คุณสมบัติทีดี และพิเศษอย่างหนึ่งที่มีในตัวของนักกีฬาที่ออกกำลังกายเพื่อสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ “ที่อยากเห็นผู้อื่นมีสุขภาพแข็งแรง มีเพื่อนออกกำลังกายเพื่อสุขภาพมากขึ้น” (ขอขอบคุณ) ด้วยความพยายาม และอดทน จากนั้นมาค่อยเริ่มวิ่งเบาๆ ได้ครั้งละ 1 –2 รอบนอกสนามฟุตบอล ประมาณ 600 เมตร/รอบ เหนื่อยแทบตาย ต่อมา สถานที่เดียวกันนี้ พบซินแซ(เคยสอนหนังสือที่โรงเรียนจีน จังหวัดเชียงใหม่) และภรรยา ขณะนั้นท่านอายุ ประมาณ 60 ปี ท่านทั้งวิ่งทั้งเดิน(น๊อกรอบผู้เขียน) เหงื่อเต็มตัว แต่ดูแข็งแรง อายุ ดูอ่อนกว่าวัยมากที่น่าสนใจคือท่านเมื่อหยุดวิ่งไม่มีอาการเหนื่อยหรือหอบเลย เฝ้าดูท่านอยู่หลายวัน จึงได้เข้าไปแนะนำตนเอง ขอทราบเคล็ดวิชาที่ท่านใช้ปฏิบัติ ท่านเป็นซินแซที่ใจดีมาก ค่อยๆ แนะนำผู้เขียนโดยไม่รู้ตัวว่าท่านเริ่มสอนแล้วคือ ท่านให้กำหนดลมหายใจ ร่วมกับการวิ่ง ก้าวขาออกแต่ละข้าง แต่ละก้าว ท่านบอกว่าต้องสัมพันธ์กัน ต้องฝึกอยู่นาน ผู้เขียนวิ่ง กับการหายใจไม่สัมพันธ์กันสำลักลมหายใจตนเองบ่อยมาก เมื่อวิ่งเสร็จท่านให้ไปนั่งคุยกับท่าน พร้อมให้นั่ง พักผ่อนกำหนดลมหายใจเข้าหายใจออก โดยทำตามท่านต่อมาท่านสอนท่ากายบริหารแต่ดูไม่ค่อยจะเหมือนมวยจีนสักเท่าใด ระหว่างฝึกท่านไห้ไป ฝึกวิ่งตอนเช้าร่วมกับวิชาที่สอนให้ ก็รู้สึกว่าวิ่งได้ไกลขึ้น อาการเหนื่อยลดลง เมื่อวิ่งเสร็จท่านชวนให้รำมวยจีนตามท่านอีกครั้งละประมาณครึ่งชั่วโมง ฝึกกับท่านอยู่ปีเศษโดยท่านไม่คิดค่าสอน บางครั้งท่านไปธุระกรุงเทพฯ หรือต่างประเทศ ท่านยังซื้อของมาฝากเป็นประจำด้วย (ขอขอบพระคุณท่านซินแซอย่างสูง) มาทราบภายหลังว่า ซินแซท่านได้ถ่ายทอดวิชา “พื้นฐานมวยจีน” ให้ผู้เขียนฝึกฝนอยู่ปีเศษ โดยไม่บอกให้ทราบ จนร่างกายมีพื้นฐานการหายใจ สมาธิ ซึ่งเป็นการประสานกันระหว่าง การเคลื่อนไหวของร่างกาย การทำสมาธิ และการหายใจ ได้อย่างต่อเนื่อง และลงตัว ซึ่งพื้นฐานวิชาการบริหารร่างกายที่ได้จากซินแซมีประโยชน์ต่อการออกกำลังกายของข้าพเจ้ามาจนถึงปัจจุบัน

ร่วมวิ่งมินิมาราธอนครั้งแรกในชีวิต เดือนธันวาคมปี 2542

เข้าร่วมวิ่งมินิมาราธอน จากประตูใหญ่หน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถึง พระธาตุดอยสุเทพ ระยะทาง ประมาณ 12 กิโลเมตร ทั้งวิ่งทั้งเดินสองข้างทางสวยมาก บางช่วงจะผ่านดอกไม้ป่ามีกลิ่นหอมตามลมมา เดินชมทิวทัศน์เพลินจนหายเหนื่อย ถึงโค้งขุนกัน(ถนนหักมุมและชันมาก) ก่อนเข้าเส้นชัยเหนื่อยแทบคลาน ต้องใช้เวลาเกือบ 2 ชั่วโมง แต่ก็ภูมิใจ และประทับใจมากที่สุด ไม่เข็ด และจะวิ่งต่อไป

ทำให้เกิดแรงจูงใจอยากเขียนเล่าสู่กัน

ต่อมามีเพื่อนนักวิ่งท่านหนึ่ง แนะนำให้หาหนังสือ “วิ่งสู่ชีวิตใหม่ ของนายแพทย์อุดมศิลป์ ศรีแสงงาม” อาการท่านมีส่วนคล้ายผู้เขียนที่เรื่องเกิดขึ้นในห้องน้ำ แต่ต่างกันที่เรื่องนี้เกิดกับท่านก่อนผู้เขียนหลายปี

 

จากการออกกำลังกาย  “วิ่ง”  ของผู้เขียน  ทำให้เริ่มสนใจ การรับประทานอาหาร   

 ควบคู่ไปกับการออกกำลังกาย  และการจัดการเรื่องเวลา 

เช้า ตื่น 05:00 น. โดยประมาณ ดิ่มน้ำ 1 แก้ว แปรงฟัน ขับถ่ายของเสีย แต่งตัวออกวิ่ง ประมาณ 1 ชั่วโมง จนมีเหงื่อออกทั่วทุกส่วนของผิวหนัง ซึ่งเป็นทางหนึ่งของการขับถ่ายของเสียออกทางผิวหนัง กลับบ้าน อาบน้ำสระผมทุกครั้ง อาหารเช้าจะเป็น น้ำผลไม้แยกกากตามฤดูกาล เช่นฝรั่ง สัปปะรด ส้ม มะละกอ แครอท แตงกวาแตงโม และกล้วยสุก เป็นต้น ไม่รับประทานอาหารหนัก เช่น เนื้อสัตว์ ไปทำงานที่คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นปกติทุกวัน

เวลาพักเที่ยง จะรับประทานตามปกติ รวมทั้งเนื้อสัตว์ เท่าที่มีขายในโรงอาหารของคณะฯ จนอิ่ม เป็นที่น่าสังเกตว่า จะรับประทานอาหารเที่ยงได้มากกว่าในอดีต เมื่อรับประทานอาหารเสร็จจะนั่งพัก หรือ หลับระยะสั้นๆ ประมาณ 15 นาที จึงเริ่มทำงานต่อในภาคบ่าย

เย็น เริ่มทำคลินิกส่วนตัวเวลา 17.30 น. ไปจนถึง เวลา ประมาณ 20;00 น. ระหว่างนี้จะรับประทานผลไม้ตามฤดูกาลเป็นอาหารหลัก หลัง 20:00 น. จะไม่รับประทานอาหารหนัก เช่น ข้าว หรือเนื้อสัตว์ เมื่อมีความจำเป็นต้องไปงานเลี้ยงตอนกลางคืน จะเลือกรับประทานอาหารกลุ่ม ผักสด และผลไม้

ผลปรากฏว่า ไขมันที่เคยสะสมไว้ที่หน้าท้องค่อยๆหายไป(แต่ยังเหลืออยู่) น้ำหนักลดลงไปจากเดิมเมื่อปีพ.ศ. 2539 จนในปัจจุบัน พ.ศ. 2544 น้ำหนักลดลงไป ประมาณ 10 กิโลกรัม เพื่อนมักบอกว่า “ผอมเกินไป ดูเหี่ยว เมื่อก่อนหน้าอิ่ม พุงพลุ้ยเป็นลักษณะที่ดีของอาเสี่ย ”คนไม่ค่อยสนิทบอกว่า “ สุขภาพดูดี ไม่อ้วน ดูแข็งแรง ร่างกายดูอ่อนกว่าวัย” ถึงจะรู้ว่า “จุ๊หมาน้อยขึ้นดอย” ก็ยังภูมิใจตนเองเงียบๆ ขณะที่ผู้เขียน เขียนอยู่นี้ ก็กลับจากวิ่งช้าๆขึ้นดอยสุเทพกับเพื่อนนักวิ่ง เริ่มและจบเช่นเดียวกับการวิ่งมินิมาราธอนขึ้นดอยสุเทพครั้งแรกในชีวิต ต่างกันที่ปัจจุบันจะวิ่งขึ้นกับเพื่อนๆ อาทิตย์ละ 1 ครั้งใช้เวลาน้อยลง อาการเพลีย ง่วงเหงา หาวนอนไม่เป็นเวลา อาการเจ็บหน้าอกและเหนื่อยง่าย ได้หายจากเราไปสามารถทำงานต่อเนื่อง สามารถรักษาผู้ป่วยต่อเนื่องได้ครั้งละ 2 – 3 ชั่วโมง กลางวันสามารถคุมนักศึกษาปฏิบัติงานในคลินิก ต่อเนื่องทั้ง คาบเช้า และคาบบ่าย ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

ใครจะสำคัญเท่าเรา © ตัวเรา

ให้รางวัลกับตนเองบ้าง หน้าที่การงานเป็นของนอกกาย ทำเมื่อมีภาระต้องทำ

ภูมิใจที่สามารถออกกำลังกาย “วิ่ง” ตั้งใจ จะวิ่งครั้งละไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง

วิ่งอาทิตย์ละไม่น้อยกว่า 4-5 วัน โดยเฉพาะ บรรยากาศของการวิ่งแข่งขัน

ขอขอบคุณ คณะผู้จัดการแข่งขันทุกระดับ ที่มีวิสัยทัศน์เลือกสถานที่ ที่สวยงาม

เพลิดเพลินต่อการวิ่งประทับใจทุกครั้ง ได้เพื่อนวิ่งเพิ่มขึ้น ไม่แบ่งชนชั้น ไม่แบ่งสีผิว

จะขอเป็นไม้ประดับของการแข่งขัน ¤ ดูสองข้างทางที่สวยงาม¤ วิ่งเพื่อสุขภาพต่อไป

 

 

จากประสบการณ์ของ นายปราโมทย์ ลิมกุล(หมอเขี้ยว) ปัจจุบันอายุ 57 ปี สนใจการออกกำลังกาย

ด้วยวิธี เดิน และ วิ่ง ตอนเช้า เพื่อ ผู้อ่าน ผู้สนใจ และรักการออกกำลังกายทุกท่าน

 

ตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย.44<% L=Len(NewHits) i = 1 For i = i to L num = Mid(NewHits,i,1) Display = Display & "" Next Response.Write Display %>