อยากวิ่งแต่ไม่มีเวลา ??

เวลาของหายากจริงหรือ

เรามีคำกล่าวที่ว่า " เวลาและวารี ไม่มีที่จะคอยใคร "

            จริงอยู่ในยุคที่เศรษฐกิจรัดตัวอย่างนี้ (ที่จริงยุคไหน ๆ เศรษฐกิจมันก็รัดตัวทั้งนั้น ) เวลาอาจเป็นของหายาก หมุนไปหมุนมา เดี๋ยวก็หมดไปอีกวันแล้ว

สิ่งที่ผู้เขียนได้ยินเสมอ ๆ คือว่า " ผม (หรือดิฉัน) ก็อยากวิ่งหรอก ครับ แต่แหม ไม่รู้ว่า จะเอาเวลาที่ไหนไปวิ่ง "

            ผู้เขียนไม่อยากจะเถียงกับใคร ก็เห็นใจและเข้าใจในเหตุผลของแต่ละคน ทั้งปัญหารถติด งานหนัก เวลาที่ให้กับครอบครัว และสังคม เหล่านี้ล้วนมัดตัวเรา ไม่ให้กระดิกกระเดี้ยไปทางไหน

            ผู้เขียนขอยกคำเปรียบของนายแพทย์สุจินต์ ผลากรกุล  มาให้ไว้เป็นข้อคิด

            ท่านบอกว่า " คนเราทุกคนมีเวลาวันละ 24 ชั่วโมง เท่ากันหมด ไม่มีใครมากน้อยกว่าใคร ไม่ว่าจะยากดีมีจน เมื่อคิดไป แล้ว อาทิตย์หนึ่งเรามีเวลาคนละ 168 ชั่วโมง เราใช้เวลาจำนวนนี้ไปในการกินบ้าง นอนบ้าง ทำงานบ้าง เล่นบ้าง ให้แก่สังคมบ้าง ครอบครัวบ้าง ทำไมเล่า เราจะดึงเวลาออกมา สัก 4-5 ชั่วโมง เพื่อร่างกายของเราบ้างไม่ได้เชียวหรือ "

น่าคิดนะครับ 4-5 ชั่วโมง จาก 168 ชั่วโมง เพื่อตัวของเราเอง มันน่าจะทำได้ใช่ไหมครับ

            ผู้เขียนคิดว่า มันขึ้นอยู่กับ ลำดับความสำคัญ ที่เราให้แก่สิ่งต่าง ๆ ที่ผ่านมาในชีวิตประจำวัน เราทุกคนมีเวลาให้กับการกิน เพราะเราถือว่าการกินเป็นเรื่องสำคัญอันดับหนึ่ง ไม่มีใครอยู่ได้โดยไม่กินอาหาร

            ในเรื่องของการออกกำลัง การขาดไปไม่ทำให้ถึงกับตายอย่างปัจจุบันทันด่วน แต่มีผลในระยะยาวต่อคุณภาพของชีวิตและ ในที่สุดต่ออายุขัย ของชีวิตนั่นเอง ที่อาจจบสิ้นลงก่อนวัยอันควร ฉะนั้นเราจึงควรบรรจุการออกกำลังกายไว้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ประจำวัน เช่นเดียวกับการกิน การนอน

เวลาพอหาได้

ผู้เขียนขอยกตัวอย่างการหาเวลามาออกกำลังกายสักเล็กน้อย

            เวลานั้นบางทีก็ซ่อนเร้นอยู่ อย่างบางคนไม่เคยตื่นนอนตอนเช้าเลย ตื่นที่ไรตะวันสายโด่ง ต้องรีบอาบน้ำ แต่งตัวไปทำงาน เมื่อแนะนำให้ตื่นเช้าหน่อย เขาก็จะบอกว่า นอนดึก จะให้ตื่นเช้าได้ยังไงไหว ครั้นซักไซร้ไล่เลียงดู ก็ได้ความว่า ที่นอนดึกนั้น ไม่ใช่ ว่ามีงานมีการอะไร จน 5-6 ทุ่ม ถึงเข้านอน

            หลังจากถูกกระตุ้นอยู่หลายครั้ง เพื่อนผู้เขียนคนนั้นจึงได้ยอมตื่นมาออกกำลังในเช้าวันหนึ่ง  ความรู้สึกที่เขาได้คือ เขาพบ โลกส่วนที่เขาไม่เคยเห็นมาก่อน ภาพ ผู้คนออกวิ่งกันเป็นเงาตะคุ่ม ๆ อากาศยามเช้าที่สดชื่น พระสงฆ์องค์เจ้าออกบิณฑบาตจีวร เหลืองปลิวไสว แสงทองจับขอบฟ้า และพระอาทิตย์ที่โผล่มาฉายฉาน เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ที่คนนอนตื่นสายไม่มีโอกาสได้ เห็น ได้สัมผัส

            นับแต่นั้นมา เขาพยายามตื่นเช้าเป็นประจำ แม้ตอนแรก ๆ จะลุกไม่ค่อยไหว แต่จากการออกกำลัง ทำให้เขานอนหลับได้ แต่หัวค่ำ การตื่นนอน ตอนเช้าจึงง่ายเข้า

ทำอย่างไรจะตื่นเช้าได้

            เคล็ดลับในการตื่นเช้าอยู่ที่ว่า ต้องพยายามทำให้ได้ติดๆ กันสักสองสามวัน เพื่อให้ร่างกายเกิดความเคยชิน เมื่อร่างกาย เคยแล้ว การจะตื่นในวันต่อไปก็ง่ายเข้า

            ในทางกลับกัน ถ้าหากเราหยุดไป คือ ตื่นสายเข้าสักสองสามวัน นิสัยเดิม ๆ ก็จะเริ่มกลับมาใหม่ ฉะนั้นถ้ามีเหตุอันใด ที่ทำให้ออกกำลังกายไม่ได้ ก็ไม่ควรหยุดการตื่นเช้า ตื่นมายืดเส้นยืดสายหรือเดินเล่น ชมนกชมไม้ก็ยังดี จะได้รักษานาฬิกาภาย ในให้ตั้งไว้อย่างเดิม

            สำหรับผู้ที่ต้องอาศัยนาฬิกาปลุก ( อย่างผู้เขียน ) เคล็ดลับอีกข้อหนึ่ง คือ ลุกขึ้นทันที เมื่อได้ยินเสียงนาฬิกาปลุก เพราะเป็น จังหวะที่จะตื่นง่ายที่สุด ถึงยังงั้นก็ยังงัวเงีย ต่อเมื่อได้ล้างหน้า แปรงฟัน โผล่หน้าออกมาสัมผัสอากาศภายนอกบ้านแล้วจึงรู้สึกสดชื่น และจะกระปรี้กระเปร่ายิ่งขึ้นเมื่อพาตัวเองไปถึงที่ที่มีคนเขาออกกำลังกายกันเยอะๆ บรรยากาศรอบข้างจะพาให้เราคึกคักไปด้วย อย่างน้อยก็ใจชื้นว่า เราไม่ได้บ้าอยู่คนเดียว

            อย่างไรก็ดี สำหรับผู้ที่ไม่มีโอกาสออกไปวิ่งในที่สาธารณะก็อย่าเพิ่งท้อใจ มีคนหลายคนตื่นมาวิ่งในบ้านทั้งชุดนอน และทำ ติดต่อกันมานานนับสิบปี อาจารย์ที่เคารพของผู้เขียนท่านหนึ่งก็อยู่ในจำพวกหลังนี้

บางคนหาเวลาได้ตอนกลางคืน

            แม้คนส่วนใหญ่จะรู้สึกว่ายามเช้าเป็นช่วงเวลาที่หาง่าย ปลอดโปร่ง จากธุรกิจและการรบกวนทั้งปวง แต่ก็มีคนอีกจำนวน ไม่น้อยที่พบว่า ยามเย็นหลังเลิกงานเป็นช่วงที่เหมาะสมกับการออกกำลัง

            บางคนหาเวลาไม่ได้เอาจริงๆ ต้องวิ่งในเวลากลางคืน เช่นคุณหมอพิวัฒน์ โปษยานนท์ และแพทย์อีกหลาย ๆ คน ที่ใช้เวลา ตอน 3 ทุ่ม อันเป็นเวลาที่เลิกจากการทำคลีนิคแล้วจึงวิ่ง

            ตัวอย่างที่ยกมา คงพอจะเป็นแนวทางสำหรับท่านผู้อ่านได้ว่า ท่านพอจะหาเวลาช่วงไหนมาออกกำลังได้ ครับ บางทีก็เป็น อย่างที่ฝรั่งเขาว่า "ความจำเป็นทำให้เกิดปัญญา" นั่นแหละ ผู้เขียนเชื่อว่า ถ้าท่านเห็นความจำเป็น ของการออกกำลังแล้วละก้อ ท่านย่อมหาเวลามาได้วันยันค่ำ

 

 (จากหนังสือ คู่มือวิ่งเพื่อสุขภาพ เล่ม 2 โดย น.พ.กฤษฎา บานชื่น )