การตรวจสมรรถภาพทางกาย

linesbar.gif (1687 bytes)

            ความแข็งแรงสมบูรณ์ของร่างกาย การมีสุขภาพดีย่อมเป็นสิ่งที่เราทุกคนปรารถนาเพราะถ้าร่างกายแข็งแรงเสียอย่าง โรคภัยไข้เจ็บก็จะเข้ามากล้ำกรายเราได้ยากและความไม่มีโรคย่อมเป็นลาภอันประเสริฐจริงๆ

            แต่ความปรารถนาที่จะได้มาซึ่งสุขภาพดีนั้น ต้องการขั้นตอนการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องเหมาะสมด้วย ไม่ใช่อยากจะมี สุขภาพดีแต่ไม่ยอมลงทุนลงแรงอะไรเลย แล้วจะเกิดผลดีได้อย่างไร อย่างเช่นเราต้องการจะมีร่างกายที่แข็งแรง วิธีการที่จะได้มาที่พวกเราทราบกันดีอยู่แล้วประการหนึ่งก็คือ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้เกิดผลต่อร่างกาย เป็นความแข็งแรง สมบูรณ์ได้

            การออกกำลังกายที่จะให้ผลดีต่อร่างกายคนเรานั้น จะต้องเป็นการออกกำลังกายที่พอเหมาะเฉพาะบุคคลไม่ใช่ การออกกำลังกายทั่วไปเหมือนกันทุกคน เพราะแต่ละคนย่อมมีจุดอ่อน จุดแข็งแตกต่างกัน เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด จึงต้องมีกานตรวจทดสอบสมรรถภาพร่างกายเสียก่อนที่จะไปทำการออกกำลังกายต่อไป จะได้จัดโปรแกรมการออกกำลังกาย และชนิดของการออกกำลังกายให้เหมาะสมกับแต่ละคน

            การทดสอบสมรรถภาพของร่างกาย จะเป็นการตรวจดูว่าความแข็งแรงของกล้ามเนื้อแต่ละส่วนนั้นอยู่ในเกณฑ์ ปกติหรือไม่, ความยืดหยุ่นของร่างกายเป็นอย่างไร, ระบบการหายใจ, ระบบการไหลเวียนโลหิตดีอยู่หรือไม่ เป็นต้น หลังจากทดสอบสมรรถภาพ ทางกายแล้ว เราจะทราบว่าเรามีความพร้อมมากน้อยเพียงใด ควรจะเน้นออกกำลังกาย ไปทางใด ชนิดและปริมาณของ การออกกำลังกายเท่าใดที่จะให้ผลสูงสุด โดยไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายซึ่งผู้เชี่ยวชาญจะ สามารถให้คำแนะนำแก่เราได้อย่างถูกต้อง เหมาะสมกับสภาพร่างกายของเรา และที่เน้นเป็นพิเศษคือ เรื่องความปลอดภัย ในการออกกำลังกายโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่อายุ 40 ปีขึ้นไปก่อนที่จะออกกำลังกายควรได้รับการตรวจและทดสอบสมรรถภาพทางกายเสียก่อน เพราะร่างกายช่วงนี้อาจจะไม่ฟิตเหมือน สมัยเป็นหนุ่มเป็นสาว แม้ว่าจิตใจของตัวเอง จะยังรู้สึกเป็นหนุ่มเป็นสาวอยู่เสมอก็เถอะ

            การตรวจสอบความสมบูรณ์ของร่างกาย จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ
            1.    การตรวจทางการแพทย์
            2.   การทดสอบสมรรถภาพทางกาย

            การตรวจทางการแพทย์ นั้น จะตรวจดูสภาพร่างกายทั่วไปทุกระบบ เพื่อประเมินสุขภาพทั่วไป และแนวโน้มที่จะเกิด โรคบางอย่าง เช่น ความดันโลหิตสูง, โรคหัวใจ เป็นต้น จึงได้ทำการตรวจในเรื่องเหล่านี้

            1.  ตรวจร่างกายทั่วไป เรื่องการเจริญเติบโต, ความเสื่อม, ระบบต่าง ๆ
           
2.  ตรวจคุณภาพเลือด เจาะเลือดตรวจดูฮีโมโกบิล, ฮีมาโตคริต, เม็ดเลือดขาว
           
3.  ตรวจปัสสาวะ
           
4.  เอกซเรย์หน้าอก
           
5.  ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ

             การทดสอบสมรรถภาพทางกาย นั้น จะเน้นมาที่ระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ ระบบประสาทที่เกี่ยวข้อง ระบบหายใจ เพื่อดูคูณภาพของกล้ามเนื้อ และการใช้งานของร่างกายซึ่งจะแบ่งการตรวจออกเป็นระบบ ดังนี้

            1.   ตรวจความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เช่น แรงบีบของมือ, แรงเหยียดขา, แรงเหยียดหลัง เป็นต้น
           
2.  ตรวจกำลังของกล้ามเนื้อ เช่น ยืนกระโดดไกล, ยืนกระโดดสูง
           
3.  สมรรถภาพของการหายใจ เช่น ความจุปอด, การหายใจสูงสุด
           
4.  ทดสอบความอดทน เช่น ลุก-นั่ง 30 วินาที, ดึงข้อยกตัวขึ้น
           
5.  ตรวจการใช้ออกซิเจนและการไหลเวียนเลือด

            ซึ่งการตรวจในลักษณะเหล่านี้ ต้องใช้อุปกรณ์ในการตรวจวัดและมีสถานที่เฉพาะ ตรวจโดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ซึ่งจะได้ผลการทดสอบที่ถูกต้องแม่นยำ และนำไปใช้ในการเตรียมออกกำลังกายที่เหมาะสมต่อไป

            สำหรับการตรวจสมรรถภาพทางกายอย่างง่าย ๆ ไม่ต้องการความแม่นยำมากนัก ก็มีวิธีการตรวจเช่นกัน โดยจะเน้น ไปที่การตรวจในเรื่อง ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ, กำลังกล้ามเนื้อ, ความอ่อนตัว, ความคล่องแคล่ว, ความเร็ว, ความอดทน, การทรงตัวและการประสานงานของกล้ามเนื้อ ซึ่งเป็นหลักการทดสอบสมรรถภาพทางกายขั้นพื้นฐาน ที่กระทำโดยทั่วไป

            ส่วนวิธีการตรวจทดสอบนั้นจะทำได้ง่าย ๆ โดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์ยุ่งยากนัก เช่น วิ่ง 50 เมตร, ยืนกระโดดไกล, ลุก-นั่ง 30 วินาที, ดึงข้อ, วิ่งเก็บของ, งอตัว, วิ่งระยะไกล เป็นต้น ซึ่งจะมีเกณฑ์วัดในแต่ละกิจกรรมว่าผู้ทดสอบผ่านเกณฑ์หรือไม่

            การมีสุขภาพทางกายที่ดีนั้น ก็คือการที่เราสามารถทำกิจกรรมอื่น ๆ นอกเหนือจากกิจวัตรประจำวันขั้นพื้นฐาน ที่เราทำอยู่แล้ว ฉะนั้นเราจึงควรที่จะฝึกฝนตนเองให้มีสมรรถภาพทางกายที่ดีขึ้น เพราะยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจ มากมายที่รอเราอยู่ และเราจะสามารถทำกิจกรรมนั้น ๆ ได้โดยร่างกายไม่เป็นอุปสรรค