การออกกำลังกายในเด็ก

            ความจริง การออกกำลังกายในเด็กนั้น จะต้องทำแต่เพียงพอด และไม่ควรใช้วิธีบังคับหรือขืนใจให้ทำ แต่ควรใช้วิธีพูดให้เข้าใจถึงประโยชน์ ของการออกกำลังกาย และทำตัวอย่างด้วยการปฏิบัติให้เด็กเห็น การบังคับหรือขืนใจนั้น นอกจากจะไม่ได้ผล หรือได้ผลเพียงระยะสั้นแล้ว ยังอาจให้ผลตรงกันข้าม คือ เด็กจะเกลียดการออกกำลังกายไปเลย ตลอดชีวิตของเขา เพราะยังไม่ลืมที่ถูกขืนใจให้ทำในสิ่งที่ไม่อยากทำในวัยเด็กได้

            ในสมัยก่อน หรือเชื่อว่าปัจจุบันก็ยังมี นั่นคือ การลงโทษเด็กที่ทำผิด ด้วยการให้ไปออกกำลังกาย เช่น ให้วิ่งรอบสนาม หรือให้วิดพื้น หรือกระโดดกบ ซึ่ง อาจกลายเป็นผลร้ายต่อจิตใจของเด็กได้ เพราะมีผู้ใหญ่หลาย ๆ คนที่ไม่อยากจะวิ่ง หรือไม่ยอมวิ่ง ด้วยยังไม่ลืมความหลังเหล่านี้

            การออกกำลังกายในเด็กนั้นควรให้ทำในรูปของกีฬา หรือการเล่นต่างๆ ที่ให้ความสนุกสนานเพลิดเพลิน อาจให้มีการแข่งขันบ้าง แต่ก็อย่าเอาจริงมากเกินไป ไมควรสอนให้เด็กเกิดความฝังใจว่า จะต้องเก่งที่สุดเสมอ เล่นอะไรก็ต้องชนะเสมอ จะแพ้ไม่ได้เป็นอันขาด เพราะการที่มีความคิดเช่นนี้จะทำให้การเล่นนั้นเกิดความเครียดมาก ซึ่งจะเป็นผลร้ายมากกว่าดี

            ความจริงผู้ใหญ่เองก็ไม่ควรที่จะมีความคิดเช่นนี้ ถ้าท่านต้องการออกกำลังกาย หรือเล่นกีฬาเพื่อสุขภาพแล้ว การที่จะแพ้หรือชนะไม่ควรถือเอามาเป็นอารมณ์มากนัก ชนะได้ก็ดี แต่ถ้าแพ้ก็ไม่เป็นไร เว้นเสียแต่ท่านจะเป็นนักกีฬาที่เล่นเป็นอาชีพ นั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

             การที่จะเป็นผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดีทั้งกายและใจนั้น จะต้องปฏิบัติตัวมาตั้งแต่เด็ก ด้วยการออกกำลังกายที่ถูกต้องรวมทั้งการกินอาหารที่เหมาะสมด้วย

            ร่างกายของเด็กจะมีการเจริญเติบโตที่ดีกว่า หากมีการออกกำลังกายที่ถูกต้อง ร่วมกับการได้รับอาหารที่เหมาะสม จากการวิจัยทางการแพทย์พบว่า การออกกำลังที่พอดีจะช่วยให้ฮอร์โมนที่เร่งการเติบโต ( growth hormone ) หลั่งออกมามากกว่าเด็กที่ไม่มีการออกกำลังกาย

            เคยมีผู้ถาม นายแพทย์เคนเน็ธ คูเปอร์ว่า เด็กควรจะเริ่มออกกำลังกายได้ตั้งแต่อายุเท่าใด ซึ่งคูเปอร์ได้ตอบว่า ถ้าเป็นการออกกำลังกายโดยทั่ว ๆ ไป หรือการเล่นที่ให้ความเพลิดเพลิน แล้ว เด็กออกกำลังได้ตั้งแต่เกิดด้วยซ้ำไป การที่เด็กทารกถีบแข็งถีบขา หรือใช้มือไขว่คว้านั้นก็เป็นการออกกำลังของเขาแล้ว

            อย่างไรก็ตาม สำหรับการออกกำลังกายแบบแอโรบิคนั้น คูเปอร์ บอกว่า ควรจะเริ่มเมื่อมีอายุอย่างน้อย 10 ปีขึ้นไป และต้องเริ่มอย่างช้า ๆ มีขั้นตอน และอย่าลืมว่าควรเป็นการออกกำลังที่ให้ความสนุก หรือเพลิดเพลินด้วย และห้ามใช้วิธีบังคับหรือขืนใจโดยเด็ดขาด

            มีพ่อแม่บางคนที่อยากให้ลูกของตนดัง ด้วยการที่สามารถทำอะไรบางอย่างที่เด็กอื่นทำไม่ได้ เช่น เคยมีพ่อที่นำเอาลูกที่อายุเพียง 5 ปี มาลงวิ่งมาราธอนด้วยระยะทางถึง 42 ก.ม. แล้วก็ภูมิใจว่า ลูกของตนทำสถิติโลกได้แล้ว แต่หารู้ไม่ว่า การวิ่งที่มากเกินไปเช่นนี้เกิดผลเสียต่อเด็กได้มาก แต่ผลเสียบางอย่างนั้นกว่าจะเห็นต้องใช้เวลาหลายปี

            การวิ่งมาราธอนด้วยระยะทางมากกว่า 40 กิโลเมตรนั้น อย่าว่าแต่เด็กเลย แม้แต่ในผู้ใหญ่ ผู้เขียนก็ไม่เห็นว่าจะเป็นการออกกำลังเพื่อสุขภาพได้อย่างไร ผู้เขียนขอเน้นว่า เรากำลังพูดกันในแง่สุขภาพ คือสิ่งที่ทำแล้วเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เพราะการวิ่งรวดเดียวติดต่อกันนาน ๆ เช่นนี้ น่าจะเป็นผลเสียต่อสุขภาพ หรือเป็นการทำร้ายร่างกายตัวเองมากกว่า ยิ่งเป็นประเทศที่มีอากาศร้อน ๆ อย่างเมืองไทยเรานี้ ไม่ควรที่จะวิ่งรวดเดียวด้วยระยะทางมาก ๆ อย่างนี้เลย

            ในบางรัฐของอเมริกาเขาจะ ห้ามไม่ให้เด็กลงวิ่งระยะทางไกลๆ เช่น ในบอสตันมาราธอนนั้น ผู้เข้าร่วมวิ่งจะต้องมีอายุไม่น้อยกว่า 18 ปี บางประเทศในยุโรปถึงกับห้ามไม่ให้เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 16 ปี ลงวิ่งแข่งระยะทางเกิน 3,000 เมตรด้วยซ้ำไป สำหรับ เควิน แบ็กเตอร์ นั้นมีความเห็นว่า ไม่ควรให้เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปี วิ่งระยะไกล (long distance)

            จะสังเกตได้อย่างหนึ่งว่า นอกจากเขาจะพูดถึงเรื่องของระยะทางแล้ว เขายังเน้นการวิ่งที่เป็นการแข่งขันด้วย การวิ่งมากเกินไปนั้นเป็นผลเสียต่อกระดูก แต่การแข่งขันนั้นเป็นผลเสียต่อจิตใจ คือทำให้เกิดความเครียดมาก

            สรุปได้ว่า การออกกำลังกาย หรือการทำกิจกรรมใด ๆ ก็ตาม ถ้าต้องการให้ได้ผลดีต่อสุขภาพแล้ว ควรจะต้องหลีกเลี่ยงการแข่งขันให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ตาม ยิ่งในปัจจุบัน นี้ดูเหมือนว่าการแข่งขันทุกชนิดต้องการอยู่อย่างเดียวเท่านั้น คือ ชัยชนะ

            กีฬาทุกชนิดถ้าเล่นแล้วจะต้องเอาชนะให้ได้ ห้ามเล่นแพ้เป็นอันขาดใครชนะมาก็จะถูกยกย่องราวกับวีรบุรุษ แต่ถ้าใครแพ้ก็จะถูกเหยียบย่ำอย่างยับเยิน การกีฬาที่เคยถือว่าเป็นยาวิเศษ ก็เลยกลายเป็นยาพิษไป เพราะนอกจากไม่สามารถแก้กองกิเลสแล้ว ยังเป็นตัวที่ทำให้เกิดกิเลสเพิ่มขึ้นอีกมากมาย ยิ่งถ้ากีฬานั้นมีการพนันเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยแล้ว ก็จะยิ่งไปกันใหญ่ทีเดียว

( หนังสือ คู่มือออกกำลังกาย โดย ศ.น.พ.ดำรง กิจกุศล)