เทวานุสาวรีย์และประวัติพระแม่ธรณี

 

 

จากพระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกล่าวในพระราชดำรัสตอบในการเปิดการประปากรุงเทพฯ ณ โรงกรองน้ำสามเสน เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ.2457 กับเจ้าพระยายมราช และเจ้าหน้าที่ของการประปากรุงเทพฯ เป็นจุดเริ่มต้นแห่งการนำพระแม่ธรณีบิดมวยผม เข้ามาเป็นสัญลักษณ์แทนการประปาและแทนน้ำสะอาดดังนี้ “การที่เจ้าพระยายมราช และข้าราชการและเจ้าหน้าที่ซึ่งได้พร้อมใจกัน ทำการนี้สำเร็จประกอบด้วยอุสาหะวิริยภาพอย่างยิ่งดังนี้ ก็เพราะมีกตัญญูกตเวทีธรรมเป็นเครื่องหนุนใจ เพื่อให้ทำการให้สมควรตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ผู้ทรงเริ่มทรงดำริ และให้สมประสงค์ของเราผู้เป็นทายาทรับราชภาระอันนั้นสืบต่อมา ควรได้ความชมเชยแลได้รับความขอบใจของเราเป็นอย่างยิ่ง

อนึ่ง ท่านทั้งหลายที่ได้ช่วยเราทำการอันนี้ให้สำเร็จไปได้ ควรรู้สึกปลื้มใจว่าได้ทำการอันเป็นประโยชน์แลกุศลอย่างยิ่ง เพราะน้ำซึ่งใสสะอาดบริสุทธิ์ใคร ๆ ย่อมรู้อยู่แล้วทั้งในโบราณแลบัดนี้ว่าเป็นของจำเป็นเพื่อประโยชน์ แลเพื่อความสุขสำหรับป้องกันโรค อันตรายของมนุษย์ น้ำใสสะอาดย่อมเป็นเครื่องบำบัดโรคได้ดีกว่าโอสถหรือเภสัชทั้งหลาย เพราะฉะนั้นสิ่งใรที่นับว่าเป็นมลทินโทษ ท่านโบราณาจารย์จึงต้องสอนให้ใช้น้ำเป็นเครื่องชำระล้าง ในที่สุดแม้จะกล่าวเปรียบเทียบสิ่งที่เป็นของชั่วร้าย เพื่อจะบำราบสิ่งชั่วร้ายอันนั้นก็จะบำราบให้พ่ายแพ้โดยอาศัยอำนาจน้ำ เป็นต้นว่าเมื่อครั้งสมเด็จพระมุนินทรชินสีห์ประทับอยู่ที่ภายใต้โพธิบัลลังก์ พระยามารซึ่งสมมุติว่าเป็นผู้คิดร้ายต่อพระองค์ได้หวังผจญต่อพระบรมศาสดา โดยเดชะอำนาจพระบารมีของพระพุทธองค์บันดาลให้นางพระธรณีมาสยายผมบีบน้ำบำราบมารได้ด้วยอิทธิฤทธิ์แห่งน้ำ อันไหลมาจากผมของนางด้วยอำนาจสัจจะวาจาภาษิตนี้ ขอการประปาจงเป็นผลสำเร็จสมความพระราชประสงค์ของสมเด็จพระชนกนารถของเรา แลสมความประสงค์ของเรา แลสมความประสงค์ของท่านทั้งหลายบรรดาที่ช่วยทำการอันนี้สำเร็จ ขอน้ำใสอันจะหลั่งไหลจากประปานี้ จงเป็นเครื่องประหารสรรพโรคร้ายที่จะเบียดเบียนให้ร้ายแก่ประชาชนผู้เป็นผศกนิกรของเรา ขอน้ำอันนี้ที่ได้รับพรแล้วโดยพระสงฆ์ได้สวดมนต์แลโดยเราได้ตั้งใจให้พร จงบันดาลให้เป็นน้ำมนต์ทำให้ประชาชนมีความสุขสวัสดิ์ผ่องแผ้ว เจริญถ้วนทั่วทุกตัวคนตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป”

เดิมการสร้างพระแม่ธรณีบิดม้วยผมมีมาก่อนหน้านี้แล้วที่สนามหลวง (เดิมเรียกว่า อุทกทาน) โดยสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระพันปีหลวง ทรงสร้างในปี พ.ศ. 2460 จากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ และประทานให้เป็นสาธารณสมบัติให้ประชาชนได้ใช้น้ำสะอาดบริโภค โดยน้ำจะไหลจากมวยผมพระแม่ธรณี ลงหม้อน้ำขนาดใหญ่  ปัจจุบัน พระแม่ธรณีบิดม้วยผม นับเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่เคารพบูชาของประชาชน

นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงยึดมั่นในพระแม่ธรณีเป็นตัวแทนของการบริการน้ำให้กับชุมชนดังตัวอย่างเมืองประชาธิปไตย การสร้างดุสิตราชธานีจะมีพระแม่ธรณีประดิษฐานอยู่ที่มุมถนน สำหรับส่งน้ำประปาให้กับดุสิตราชธานี

 ความเชื่อเกี่ยวกับพระแม่ธรณี

การศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับพระแม่ธรณีหรือพระธรณี จะไม่มีผู้ใดได้ค้นคว้าเรื่องราวไว้มากนัก จึงผูกพันความเชื่อระหว่างศาสนาฮินดูและพุทธศาสนา แยกเป็น 2 ลักษณะ คือ

1. ลักษณะที่นำความเชื่อมาจากสิ่งมหัศจรรย์บังเกิดขึ้นเหนือธรรมชาติที่มิอาจจะหาคำอธิบายได้ จากปรากฎการณ์ที่เร้นลับ ตลอดจนการเล่าขานสืบต่อจนกลายเป็นวัฒนธรรมของท้องถิ่น และความเชื่อถือผูกให้เป็นเทพเทวา เมื่อกระทำสิ่งที่ขัดหรือผิดต่อความเชื่อมักจะมีความรู้สึกว่า ถูกฟ้าดินลงโทษและชีวิตไม่สามารถดำรงต่อไปอย่างผาสุข หรือจะรู้สึกว่าผิดบาปต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งจะเป็นสิ่งไม่มีตัวตน เช่น พื้นพิภพ , ธรณี, พื้นดิน เป็นต้น

2. ลักษณะที่กล่าวอ้างความเชื่อจาก เทศน์มหาชาติ พุทธประวัติ ปฐมสมโพธกถา เกี่ยวกับตำนานเทพ เทวดาต่าง ๆ มีเป็นรูปลักษณ์ เห็นเป็นรูปร่างของเทพ ปรากฏกายเป็นสตรี

จากลักษณะความเชื่อเกี่ยวกับพระแม่ธรณี ซึ่งเป็นลักษณะความคิด ความเชื่อ จากหนังสือนิตยสารชวนรู้เขียนโดย อาจารย์ฤดีรัตน์ กายราศ จากกองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ เรื่องพระคงคา พระธรณี แม่โพสพ เทวดา ในวัฒนธรรมไทยได้ค้นคว้าเกี่ยวกับพระแม่ธรณีได้ชัดเจน จึงขออนุญาตอ้างอิงและนำบทความของท่านมาบางตอนเพื่อได้เห็นภาพลักษณ์ของพระแม่ธรณี ซึ่งท่านได้นำลักษณะของเทวานุสาวรีย์พระแม่ธรณีการประปานครหลวง มากล่าวและเขียนถึงภาพลักษณ์ได้ชัดเจนดังนี้

“ปรากฏการณ์ต่าง ๆ ทางธรรมชาติอันน่ามหัศจรรย์ที่บังเกิดขึ้น เป็นสิ่งที่มนุษย์แต่โบราณกาลไม่สามารถทราบหรืออธิบายได้ด้วยปัญญาและเหตุผล จึงเข้าใจว่าเกิดจากฤทธิ์และอำนาจของผีสางเทวดาที่จะบันดาลให้ทั้งคุณและโทษ ประกอบกับธรรมชาติของมนุษย์ต้องการสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจเพื่อช่วยให้เกิดความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ปกป้อง คุ้มครอง จึงเกิดคติความเชื่อว่า หากมีการบนบานศาลกล่าวเซ่นไหว้บูชาแล้ว ก็จะพ้นจากความทุกข์ยากลำบากเดือดร้อน ด้วยความเชื่อดังนี้เมื่อปฏิบัติสืบเนื่องกันมาเป็นเวลาช้านาน ก็ได้เข้าไปครอบงำอยู่ในความนึกคิดและจิตใจของคนในชาติ ในสังคมอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ กลายเป็นมูลฐานแห่งวัฒนธรรมจารีตประเพณี เกิดเป็นพิธีรีตองต่าง ๆ ที่มนุษย์ในยุคสมัยต่อมาได้ปรับปรุงให้ประณีตงดงามขึ้น เพื่อสัมฤทธิ์ผลแห่งความเป็นสวัสดิมงคลในการดำเนินชีวิต เทวดาในวัฒนธรรมไทยก็เป็นมรดกจากสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ ตลอดจนการทำมาหากินของคนไทยและเป็นที่น่าสังเกตว่าเทวดาที่คอยเอื้อเฟื้อดูแลทุกข์สุขของมวลมนุษย์ มักจะเป็นเทวดาผู้หญิงเสียเป็นส่วนใหญ่ “

พระธรณี ตามคติความเชื่อของชาวฮินดูให้ความเคารพนับถือว่าแผ่นดินเป็นสิ่งค้ำจุนสรรพสิ่งทั้งปวงในโลกเปรียบเสมือนมารดาผู้ให้กำเนิดหล่อเลี้ยงโลกและแผ่นดิน จึงได้รับยกย่องว่าเป็นเทพจากธรรมชาติองค์หนึ่งเป็นเพศหญิง เรียกนามว่า “ธรณิธริตริ” แปลว่าผู้ค้ำจุนพระธรณี แม้จะมิค่อยมีรูปเคารพอย่างแพร่หลายเช่นเทพองค์อื่นแต่ก็มีผู้ให้ความเคารพนับถือเป็นจำนวนมิใช่น้อย เพราะถือกันว่าพระธรณีสถิตย์อยู่ตามที่ต่าง ๆ ทุกหนทุกแห่ง จะทำการบูชาด้วย ข้าว ผลไม้ และนมด้วยการวางไว้บนก้อนหิน หรือประพรมลงบนพื้นดิน บางแห่งใช้เหล้าเป็นการสังเวยก็มี นอกจากนี้ชาวฮินดูยังมีการขอขมาลาโทษเมื่อจะวางเท้าลงบนพื้นดินก่อนจะลุกขึ้นในตอนเช้า วัวหรือควายที่มีลูกก่อนที่จะให้ลูกกินนมครั้งแรก เจ้าของจะปล่อยน้ำนมของแม่วัวลงบนพื้นดินเสียก่อนทุกครั้งไป ถ้าเป็นพวกชาวนาก็จะขอให้พระธรณีช่วยคุ้มครองผืนนาและวัวควาย แม้ในพระเวทก็มีการขอร้องต่อพระธรณ๊ให้ช่วยพิทักษ์คุ้มครองวิญญาณของคนตาย และต่อมาได้นับถือว่าเป็นเทพแห่งไร่นาด้วย ในแคว้นปัญจาบเชื่อกันว่าพระธรณีจะนอนหลับเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ของทุก ๆ เดือนชาวไร่ชาวนาจะหยุดไม่ทำงานในระยะนี้

เทพแห่งแผ่นดินหรือพระธรณี ไม่ค่อยมีเรื่องราวประวัติความเป็นมาปรากฏมากมายดังเช่นเทพองค์อื่น หรือมีก็สับสน เช่น บางแห่งว่าพระธรณีมีโอรสกับพระนารายณ์องค์หนึ่งคือพระอังคาร บางแห่งว่าพระอังคารเป็นโอรสของพระศิวะกับพระธรณี หรือในคติพราหมณ์พบเพียงว่าเป็นชายาของพระธุรวะหรือดาวเหนือ

คติความเชื่อเรื่องพระธรณีได้เผยแพร่มาสู่ไทย ก็เนื่องจากอิทธิพลคัมภีร์พระพุทธศาสนาเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ในพิธีกรรมต่าง ๆ อาทิเช่น พิธีการก่อนไปจับช้างก็มีการกล่าวบูชาพระธรณีเช่นกัน แต่ความเชื่อถือเกี่ยวกับพระธรณีในไทยก็มิได้เป็นที่แพร่หลายนัก และมีความเชื่อเช่นเดียวกับทางอินเดียว่าเป็นเพศหญิงนามพระธรณีมีปรากฎในวรรณคดีไทยหลายเรื่อง อาทิเช่น หนังสือเทศน์มหาชาติปฐมสมโพธิกถา ลิลิตตะเลงพ่าย เป็นต้น มีนามเรียกแตกต่างกันไปเช่น นางพระธรณี พระแม่วสุนธราพสุธา แปลในความหมายเดียวกันว่า ผู้ทรงไว้ซึ่งทรัพย์สมบัติหมายถึงแผ่นดินนั่นเอง สำหรับชาวไทยทั่วไปจะเรียกกันติดปากว่า แม่พระธรณีบ้าง พระแม่ธรณีบ้าง ตามความนิยม

จากเรื่องราวของพระธรณี แสดงให้เห็นว่าเป็นเทพที่รักสงบอยู่เงียบ ๆ จึงไม่ใคร่มีเรื่องราวอะไรในโลก เฝ้าแต่เลี้ยงโลกประดุจแม่เลี้ยงลูก คอยรับรู้การทำบุญกุศลของมนุษย์โลก ด้วยการใช้มวยผมรองรับน้ำจากการกรวดน้ำเสมือนกับเป็นอรูปกะ คือไม่มีตัวตนแต่เมื่อมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นหรือมีผู้ร้องขอจึงจะปรากฏรูปขึ้นมาสักครั้งหนึ่ง

พระธรณีเป็นเทวดาผู้หญิงที่มีสรีระรูปร่างใหญ่หากแต่อ่อนช้อย งดงามพระฉวีสีดำ พระพักตร์รูปไข่ มวยพระเกศายาวสลวยสีเขียวชอุ่มเหมือนกลุ่มเมฆ พระเนตรสีเหมือนดอกบัวสายคือสีน้ำเงิน พระชงฆ์เรียว พระพาหาดุจงวงไอยรา นิ้วพระหัตถ์เรียวเหมือนลำเทียน มีพระทัยเยือกเย็นไม่หวั่นไหว พระพักตร์ยิ้มละมัยอยู่เสมอ

ภาพเขียนรูปนางพระธรณีที่ถือกันว่างดงามเป็นพิเศษ คือภาพที่ฝาผนังด้านหน้าพระประธานในพระอุโบสถวัดชมภูเวก จังหวัดนนทบุรี ส่วนภาพปั้นหล่อนางพระธรณีในศิลปะไทยที่มีปรากฏอยู่จะทำเป็นรูปหญิงสาว มีรูปร่างอวบใหญ่ ล่ำสันอย่างได้สัดส่วน มีความงามประดุจเทพธิดา นั่งในท่าคุกเข่า แต่ยกเข่าขวาขึ้นสูงกว่าเข่าซ้าย บางแห่งสร้างให้อยู่ในท่ายืน แต่ที่เหมือนกันก็คือมวยผมปล่อยยาว มือขวายกข้ามศีรษะไปจับไว้ที่โคนมวยผม ส่วนมือซ้ายจับมวยผมแสดงท่ากำลังบิดให้สายน้ำไหลออกมาจากมวยผมนั้น ส่วนเครื่องทรงไม่มีแบบแผนที่แน่นอนตายตัว ตามแต่จินตนาการของผู้สร้าง บางแห่งสวมพัตราภรณ์เฉพาะช่วงล่าง แต่บางแห่งทั้งนุ่งผ้าจีบและห่มสไบอย่างสวยงาม ประดับเครื่องถนิมพิมพาภรณ์มีกรอบหน้าและจอนหูเป็นต้น

สำหรับเทวานุสาวรีย์พระแม่ธรณีในการประปานครหลวงจะมีรูปทรงแตกต่างจากรูปปั้นทั่วไป คือมีลักษณะรูปทรงสง่างาม ลำแขน องค์เอวเรียวงดงาม พระฉวีสีดำ พระพักตร์รูปไข่ มวยพระเกศายาว พระเนตรรีใหญ่คมเหลือบมองพื้นพสุธา วงหน้ารีเรียวพระโอษฐ์ยิ้มละไม เหมือนรูปภาพพระแม่ธรณีที่ฝาผนังด้านหน้าพระอุโบสถวัดชมภูเวก จังหวัดนนทบุรี

ส่วนลักษณะตามความเชื่อทางพระพุทธศาสนา จากตำนานเกี่ยวกับเทวดา มาร พรหม และจากพระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรสเรื่องปฐมสมโพธิกถาตอนมารวิชัยปริวรรต ได้กล่าวถึงพระแม่ธรณีที่ปรากฎขึ้นมาในช่วงที่สำคัญที่สุดของพระพุทธเจ้าคือ ก่อนการตรัสรู้ ได้เป็นพยานสำคัญในการปราบมารทั้งหลายทั้งปวง ดังความละเอียดต่อไปนี้

“แต่ในชาติอาตมะเป็นพระยาเวสสันดรชาติเดียวนั้น ก็ได้บำเพ็ญทานบารมีถึงบริจาคนางมัทรีเป็นอวสาน พื้นพสุธาก็กัมปนาการถึง 7 ครั้ง แลกาลบัดนี้ อาตมะนั่งเหนืออปราชิตบัลลังก์อาสน์ หมู่มารอริราชมาแวดล้อมยุทธการเป็นไฉนแผ่นพสุธาธารจึงดุษณีภาพอยู่ฉะนี้ แลพระยามารอ้างบริษัทแห่งตนให้เป็นกฏสักขีขานคำมุสา แลพื้นปฐพีอันปราศจากเจตนาได้สดับคำอาตมะในครั้งนี้จงรับเป็นสักขีพยานแห่งข้า แล้วเหยียดพระหัตถ์เบื้องขวาอันประดับด้วยจักรลักษณะอันงามดุจงวงไอยรารุ่งเรืองด้วยพระนขามีพรรณอันแดงดุจแก้วประพาฬออกจากห้องแห่งจีวร ครุวนาดุจวิชุลดาในอัมพรอันออกจากระหว่างห้องแห่งรัตวลาหก ยกพระดัชนีชี้เฉพาะพื้นมหินทรา จึงออกพระวาจาประกาศแก่นางพระธรณีว่า ดูก่อนวนิดาดลนารี ตั้งแต่อาตมะบำเพ็ญพระสมภารบารมีมาตราบเท่าถึงอัตภาพเป็นพระเวสสันดรราช ได้เสียสละบุตรทานบริจาคแลสัตตสดกมหาทานสมณะพราหมณาจารย์ผู้ใดผู้หนึ่ง ซึ่งจะกระทำเป็นสักขีพยานในที่นี้ก็มิได้ มีแต่พสุนธารนารีนี้แลรู้เห็นเป็นพยานอันใหญ่ยิ่ง เป็นไฉนท่านจึงนิ่งมิได้เป็นพยานอาตมาในกาลบัดนี้

ในขณะนั้น นางพสุนธรีวนิดาก็มิอาจดำรงกายาอยู่ได้ ด้วยโพธิสมภารานุภาพยิ่งใหญ่แห่งพระมหาสัตว์ ก็อุบัติบันดาลเป็นรูปนารี ผุดขึ้นจากพื้นปฐพียืนประดิษฐานเฉพาะพระพุทธังกุรราช เหมือนดุจร้องประกาศกราบทูลพระกรุณาว่าข้าแต่พระมหาบุรุษราช ข้าพระบาททราบซึ่งสมภารบารมีที่พระองค์สั่งสมอบรมบำเพ็ญมา

แต่น้ำทักษิโณทกตกลงชุ่มอยู่ในเกศาข้าพระพุทธเจ้านี้ ก็มากกว่ามากประมาณมิได้ ข้าพระองค์จะบิดกระแสใสสินโธทกให้ตกไหลหลั่งลง จงเห็นประจักษ์แก่นัยนาในครานี้ แลนางพระธรณีก็บิดน้ำในโมลีแห่งตน อันว่ากระแสชลก็หลั่งไหลออกจากเกศโมลีแห่งนางพสุนธรีเป็นท่อธารมหามหรรณพ นองท่วมไปในประเทศที่ทั้งปวงประดุจห้องมหาสาครสมุทร พระผู้เป็นเจ้ารักขิตาจารย์จึงกล่าวสารพระคาถาอรรถาธิบายความก็เหมือนนัยกล่าวแล้วแต่หลัง

ครั้งนั้น หมู่มารเสนาทั้งหลายมิอาจดำรงกายอยู่ได้ ก็ลอยไปตามกระแสน้ำปลาตนาการไปสิ้น ส่วนคิรีเมขลคชินทรที่นั่งทรงองค์พระยาวัสวดีก็มีบาทาอันพลาดมิอาจตั้งกายตรงอยู่ได้ ก็ลอยตามชลธารไปตราบเท่าถึงมหาสาคร อันว่าระเบียบแห่งฉัตรธวัชจามรทั้งหลาย ก็ทักทบท่าวทำลายล้มลงเกลื่อนกลาดและพระยามาราธิราชได้ทัศนาการเห็นมหัศจรรย์ ดังนั้น ก็บันดาลจิตพิศวงครั่นคร้ามขามพระเดชพระคุณเป็นอันมาก พระคันถรจนาจารย์จึงกล่าวพระคาถาสรรเสริญคุณานุภาพโพธิสัตว์อรรถาธิบายความก็ซ้ำหนหลัง

ครั้งนั้นมหาปฐพีก็ป่วนปั่นปานประหนึ่งว่าจักรแห่งนายช่างหม้อบันลือศัพท์นฤนาทหวาดไหวสะเทือนสะท้าน เบื้องบนอากาศก็นฤโฆษนาการ เสียงมหาเมฆครืนครั่นปิ่มปานจะทำลายภูผาทั้งหลาย มีสัตตภัณฑ์บรรพต เป็นต้น ก็วิจลจลาการขานทรัพย์สำเนียงกึกก้องทั่วทั้งท้องจักรวาล ก็บันดาลโกลาหลทั่วสกลดังสะท้าน ปานดุจเสียงป่าไผ่อันไหม้ด้วยเปลวอัคคี ทั้งเทวทุนทุภีกลองสวรรค์ก็บันลือลั่นไปเอง เสียงครืนเครงดุจวีหิลาชอันสาดทิ้ง ถูกกระเบื้องอันเรืองโรจน์ร้อนในกองอัคนี การอัสนีบาตก็ประหารลงเปรี้ยง ๆ เพียงพื้นแผ่นปฐพีจะพังภาคดังห่าฝน ถ่านเพลิงตกต้องพสุธาดลดำเกิงแสงสว่างหมู่มารทั้งหลายต่าง ๆ ตระหนกตกประหม่า กลัวพระเดชานุภาพแพ้พ่าย แตกขจัดขจายหนีไปในทิศานุทิศทั้งปวงมิได้เศษ แลพระยามาราธิราชก็กลัวพระเดชบารมี ปราศจากที่พึ่งที่พำนักซ่อนเร้นให้พ้นภัยหฤทัย ท้อระทดสลดสังเวชจึงออกพระโอษฐ์สรรเสริญพระเดชพระคุณพระมหาบุรุษราชว่า ดังอาตมาจินตนาการอันว่าผลทานศีลสรรพบารมีแห่งพระสิทธัตถกุมารนี้ ปรากฏอาจให้บังเกิดมหิทธฤทธิ์สำเร็จกิจมโนรถปรารถนาทุกประการ มีพระกมลเบิกบานแผ่ไปด้วยประสาทโสมนัส จึงทิ้งเสียซึ่งสรรพาวุธประนมหัตถ์ทั้ง 2,000 อัญชลีกรนมัสการ ก็กล่าวสารพระคาถาว่า นโม เต ปุริสาชญญ เป็นอาทิ อรรถาธิบายความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ปุริสาชาไนยชาติเป็นอุดมบุรุษราชในโลกนี้ ข้าพระพุทธเจ้าขอถวายวันทนาการชุลีพร้อมด้วยทวารทั้ง 3 คือกายวจีมโนประณามประณตในบทบงกชยุคลบาท บุคคลผู้ใดในมนุษย์โลกธาตุกับทั้งเทวโลก ที่จะปูนเปรียบประเสริฐเสมอพระองค์คงเทียมเทียบนั้นมิได้มี พระองค์ได้ตรัสเป็นพระศรีสรรเพชญ์เสร็จแจ้งจตุราริยสัจจ์ศาสดาจารย์มีพระเดชครอบงำชำนะหมู่มาร เป็นปิ่นปราชญ์ฉลาดในอนุสัยแห่งสรรพสัตวโลกจะข้ามขนนิกรเวไนย์ให้พ้นจตุรโอฆกันดารบรรลุฝั่งฟากอมฤตมหานฤพานอันเกษมสุขปราศจากสังสารทุกข์ในครั้งนี้ แลพระยาวัสวดีมารโถมนาการพระคุณพระมหาบุรุษราชด้วยจิตประสาทเลื่อมใส ผลกุศลนั้นจะตกแต่งให้ได้ตรัสแก่พระปัจเจกโพธิญาณในอนาคตกาลภายหน้า เมื่อพระยามารกล่าวสัมภาวนากถาสรรเสริญคุณพระโพธิสัตว์ แล้วก็นิวัตตนาการสู่สกลฐานเทวพิภพ”

จึงสรุปความเชื่อทั้ง 2 ลักษณะ คือ พระแม่ธรณีเป็นอรูปกะคือไม่มีรูปกาย เช่นเดียวกับพระแม่คงคา ซึ่งชาวฮินดูจะทำการสักการะได้ทุกสถานที่ เมื่อต้องการความช่วยเหลือก็อ้างเรียกได้ทุกเวลา ส่วนความเชื่ออีกลักษณะหนึ่งที่ทางศาสนาพุทธได้เชื่อตามพุทธประวัติ ที่พระแม่ธรณีได้มีพระคุณต่อพระพุทธเจ้าก่อนการตรัสรู้ดังได้กล่าวมาแล้วนั้น พระแม่ธรณีมีรูปกายผุดขึ้นมาจากพื้นปฐพีเป็นองค์ที่มีภาพเป็นนิมิตรเป็นรูปสตรีที่ทางพุทธได้กำหนดพระนามของพระแม่ธรณี คือ”นางพสุนธรี” ซึ่งเป็นองค์ตามลักษณะของรูปร่างตามพระแม่ธรณีบีบมวยผมจะประดิษฐานอยู่ใต้แท่นฐานพระพุทธเจ้า “ปางปราบมาร” และเมื่อเกิดมหาปฐพีป่วนปั่น ด้วยอิทธิฤทธิ์ของพระแม่ธรณีบีบมวยผมน้ำมาท่วมท้นหมู่มาร มีทั้งฝนตกและน้ำท่วม และ “ปางนาคปรก” หรือเรียกว่า “พระอนันตชินราช” ชึ่งมีพญานาคได้มาแผ่ปกบังฝนและขดตัวยกชูบัลลังก์ขึ้นสูงจากน้ำที่ท่วมท้นขึ้นมาอย่างฉับพลัน จึงมีรูปภาพที่ตามผนังพระอุโบสถวัดต่าง ๆ ตรงข้ามกับพระประธาน พระแม่ธรณีจึงเป็นเทพผู้อุปถัมภ์พระพุทธเจ้าการบูชาจึงดูได้จากภาพพระแม่ธรณีที่ทูนบัลลังก์พระพุทธองค์สูงเหนือเศียร เป็นต้น

การสักการะบูชาพระแม่ธรณีเมื่อศึกษาจากบทสวดทางพุทธศาสนา จึงเป็นบทที่เกี่ยวกับการให้เป็นหลักใหญ่จนมีผู้เรียบเรียงไว้สำหรับผู้สนใจได้ใช้บูชาคู่กับพุทธคุณซึ่งนิยมใช้บทสวด “พาหุง พุทธคุณคุ้มครองโลก”

อานิสงส์ของการสวดมนต์

สรุปโดยย่อคือ

1. ผู้สวดมนต์จะเกิดสมาธิจิต ทำให้จิตใจสงบ หนักแน่น มั่นคง ไม่หวั่นไหว คิดทำการใดก็สำเร็จ มีกระแสจิตที่เข้มแข็ง

2. เกิดมงคลในชีวิต เทวดาและมนุษย์รักและอำนวยพร ให้ประสบแต่โชคดี สิ่งที่ดี ๆ ตลอดเวลา เพียงแต่ให้ผู้สวดนั้นสวดด้วยความศรัทธาและใจมั่น

3. มนต์ที่สวดนั้น มักจะเป็นคำสวดที่มีพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า การนำพระธรรมมาบริกรรมท่องบ่นอยู่เป็นนิตย์ จิตเกิดเห็นธรรมนำไปสู่วิมุติคือพระนิพพานได้ในที่สุด

4. ผู้สวดมนต์โดยเฉพาะผู้สวดพุทธคุณพาหุง จะไม่เกิดเหตุร้ายขึ้นในบ้านเป็นอันขาด ไม่ว่าไฟไหม้ น้ำท่วม อุบัติเหตุต่าง ๆ เป็นต้น

5. หญิงมีครรภ์ถ้าได้สวดพุทธคุณพาหุง จะทำให้ลูกมีสุขภาพดีทั้งสุขภาพกาย สุขภาพใจ สติปัญญาดีเลิศ และเป็นอภิชาตบุตร ดีกว่าพ่อแม่หลายเท่าตัว

คำอธิบายบทสวดพาหุง

1. สวดบทไตรสรณคมณ์ทุกวันจะเป็นมงคลชีวิตแก่ผู้นั้น มีเทวดามารักษาตลอดเวลา ไม่ตกสู่อบายภูมิ ศัตรูทำร้ายไม่ได้

2. บทสวดพาหุงมีคำอธิบายดังนี้ ก่อนที่พระผู้มีพระภาคเจ้าจะตรัสรู้ในวันเพ็ญเดือนหก ณ ใต้พระศรีมหาโพธิ์นั้น พญามารและเสนามารได้ยกพลจำนวนมากมากีดกันพระพุทธเจ้าไม่ให้ตรัสรู้ ตัวหัวหน้ามารได้เนรมิตแขนเป็นพันแขนเพื่อรบกับพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้านึกถึงบารมี 10 ทัศ ที่ได้บำเพ็ญมาในทศชาติมีทานในชาติสุดท้ายเป็นต้น จึงเอาชนะมารทั้งหมดได้ และสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าได้ในเช้าวันนั้น

ธรรมะในข้อนี้คือ ทาน สอนให้เราให้ปันสิ่งของของเราแก่พระสงฆ์หรือผู้อื่นเป็นประจำ ผู้ใดสวดและปฏิบัติตามธรรมะในข้อนี้เป็นประจำจะมีอานิสงส์คือ

1. ทำมาค้าขึ้น ทำกินบังเกิด

2. ไม่อดอยากยากจน กิจการมั่นคง ครอบครัวมีฐานะมั่นคง

3. มีความเจริญก้าวหน้าในกิจการงานที่ทำ หรืออาชีพที่ประกอบ

บทสวดพาหุง

พุทธคุณคุ้มครองโลกที่ยิ่งใหญ่ที่สุด

บทนมัสการพระรัตนตรัย

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (3 จบ)

พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ

ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ

สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ

ทุติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ

ทุติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ

ทุติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ

ตะติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ

ตะติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ

ตะติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ

บทขอขมาพระรัตนตรัย

วันทามิ พุทธัง สัพพะเมโทสัง ขะมะถะเม ภันเต

วันทามิ ธัมมัง สัพพะเมโทสัง ขะมะถะเม ภันเต

วันทามิ สังฆัง สัพพะเมโทสัง ขะมะถะเม ภันเต

พุทธคุณ

อิติปิโส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ วิชชา จะระณะสัมปันโน สุคะโต โลกะวิทู

อะนุตตะโร ปุริสะทัม มะสาระถิ สัตถา เทวะมะนุสสานัง พุทโธ ภะคะวาติ ฯ

ธรรมคุณ

สวากขาโต ภะคะวะโต ธัมโม สันทิฏฐิโก อะกาลิโก เอหิปัสสิโก โอปะนะยิโก

ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิติ ฯ

สังฆคุณ

สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ อุชุปฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ

ญายะปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ สามีจิปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ

ยะทิทังจัตตาริ ปุริสะยุคานิ อัฏฐะ ปุริสะปุคคะลา เอสะ ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ

อาหุเนยโย ปาหุเนยโย ทักขิเนยโย อัญชะลี กะระณีโย อะนุตตะรัง ปุญณักเขตตัง โลกัสสาติ ฯ

พุทธชัยมงคลคาถา (พาหุงมหากา)

1. พาหุงสะหัสสะมะภินิมมิตะสาวุธันตัง ครีเมขะลัง อุทิตะโฆระสะเสนะมารัง

ทานาธิธัมมะ วิธินา ชิตะวา มุนินโท ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ ฯ

2. มาราติเรกะมะภิยุชฌิตะสัพพะรัตติง โฆรัมปะนาฬาวะกะมักขะมะถัทธะยักขัง

ขันตีสุทันตะ วิธินา ชิตะวา มุนินโท ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ ฯ

3. นาฬาคิริง คะชะวะรัง อะติมัตตะภูตัง ทาวัคคิจักกะมะสะนีวะ สุทารุณตัง

เมตตัมพุเสกะ วิธินา ชิตะวา มุนินโท ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ ฯ

4. อุกขิตตะขัคคะมะติหัตถะสุทารุณตัง ธาวันติโยชะนะปะถังคุลิมาละวันตัง

อิทธีภิสังขะตะมะโน ชิตะวา มุนินโท ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ ฯ

5. กัตตะวานะกัฏฐะมุทะรัง อิวะ คัพภินียา จิญจายะ ทุฎฐะวะจะนัง ชะนะกายะมัชเฌ

สันเตนะ โสมะวิธินา ชิตะวา มุนินโท ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ ฯ

6. สัจจัง วิหายะ มะติสัจจะกะวาทะเกตุง วาทาภิโรปิตะมะนัง อะติอันธะภูตัง

ปัญญาปะทีปะชะลิโต ชิตะวา มุนินโท ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ ฯ

7. นันโทปะนันทะภุชะคัง วิพุธัง มะหิทธิง ปุตเตนะ เถระภุชะเคนะ ทะมาปะยันโต

อิทธูปะเทสะ วิธินา ชิตะวา มุนินโท ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ ฯ

8. ทุคคาหะทิฏฐิภุชะเคนะ สุทัฏฐะหัตถัง พรัหมัง วิสุทธิชุติมิทธิพะกาภิธานัง

ญาณาคะเทนะ วิธินา ชิตะวา มุนินโท ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ ฯ

เอตาปิ พุทธะชะยะมังคะละอัฏฐะคาถา โย วาจะโน ทินะทิเน สะระเต มะตันที

หิตะวานะเนกะวิวิธานิ จุปัททะวานิ โมกขัง สุขัง อะธิคะเมยยะ นะโร สะปัญโญ ฯ

มหาการุณิโก

มหาการุณิโก นาโถ หิตายะ สัพพะปาณินัง

ปูเรตวา ปาระมี สัพพา ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง

เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ โหตุ เต ชะยะมังคะลัง ฯ

ชะยันโต โพธิยา มูเล สักยานัง นันทิวัฑฒะโน

เอวัง ตะวัง วิชะโย โหหิ ชะยัสสุ ชะยะมังคะเล

อะปะราชิตะปัลลังเก สีเส ปะฐะวิโปกขะเร

อะภิเสเก สัพพะพุทธานัง อัคคัปปัตโต ปะโมทะติ ฯ

สุนักขัตตัง สุมังคะลัง สุปะภาตัง สุหุฏฐิตัง

สุขะโณ สุมุหุตโต จะ สุยิฏฐัง พรัหมะจาริสุ

ปะทักขิณัง กายะกัมมัง วาจากัมมัง ปะทักขิณัง

ปะทักขิณัง มะโนกัมมัง ปะณิธี เต ปะทักขิณา

ปะทักขิณานิ กัตวานะ ละภันตัตเถ ปะทักขิเณ ฯ

ภะวะตุ สัพพะมังคะลัง รักขันตุ สัพพะเทวะตา

สัพพะพุทธานุภาเวนะ สะทาโสตถี ภะวันตุ เต ฯ

ภะวะตุ สัพพะมังคะลัง รักขันตุ สัพพะเทวะตา

สัพพะธัมมานุภาเวนะ สะทาโสตถี ภะวันตุ เต ฯ

ภะวะตุ สัพพะมังคะลัง รักขันตุ สัพพะเทวะตา

สัพพะสังฆานุภาเวนะ สะทาโสตถี ภะวันตุ เต ฯ